คุ้มครองบางคล้า

savebangkhla.org

บางคล้า๑๐๐ปี

บางคล้า ๑๐๐ ปี

ความนำ

        “บางคล้า” เป็นดินแดนที่มีความอุดมสมบูรณ์ไปด้วยนาไร่ และสวนผลไม้ชนิดต่างๆ เช่น สับปะรด มะพร้าว มะม่วง ฯลฯ ซึ่งแต่ละชนิดก็มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักแพร่หลายไปทั่ว แผ่นดินผืนนี้เป็นที่ตั้งรกรากของบรรพบุรุษชาวบางคล้า ซึ่งมีทั้งชาวไทยและชาวไทยเชื้อสายจีนสืบทอดกันมาช้านาน วิถีชีวิตของชุมชนเก่าแก่แห่งนี้มีความเป็นอยู่อย่างสงบ เรียบง่าย ต่างทำมาหากิน พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันทุกคนมีความรักใคร่ปรองดองให้ความนับถือดุจพี่น้อง ดั่งเครือญาติ
        แผ่น ดิน แผ่นน้ำที่เป็นบางคล้าขณะนี้มีความเป็นมายาวนนานถึง ๑๐๐ ปี ทุกที่มีประวัติทุกกลุ่มชนมีวิถีชีวิตที่จะดำรงด้วยภูมิปัญญาของตนและมีวิธี แสวงหาทรัพย์โดยการประกอบอาชีพตามสิ่งแวดล้อมอำนวย ผลิตผลจากหลายอาชีพจัดเป็นของดีบางคล้าที่มีผู้มาเยือนนิยมซื้อติดมือกลับ บ้าน

“เมื่อ ก่อนผมยังเล็กเกาะนี้อยู่ที่ตำบลบางค้างคาวเพิ่งมาเปลี่ยนเป็นตำบลบางตลาด ต่อมาเกาะนี้เปลี่ยนสังกัด จากอำเภอบางคล้า มาอยู่ที่กิ่งอำเภอคลองเขื่อนตอนที่ผมโตแล้ว แต่เกาะก็ยังอยู่ที่เดิม ที่หน้าอำเภอบางคล้า” เป็นคำบอกเล่าของคนรุ่นเก่าที่แสดงให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปร ที่มนุษย์พยายามจัดสรรตามหลักการปกครอง จริงๆแล้ว ผืนแผ่นดินยังอยู่ที่เดิม แต่มีความเปลี่ยนแปลงเป็นวิวัฒนาการทำให้คนรุ่นหลังต้องศึกษาประวัติศาสตร์ ท้องถิ่นตน

        จาก การศึกษารวบรวมข้อมูลทางด้านประวัติศาสตร์และจากากรสอบถาม สัมภาษณ์ท่านผู้ใหญ่หรือผู้เฒ่าผู้แก่แล้วนำมาพิจารณาเปรียบเทียบกับ พงศาวดาร ตำนานพื้นบ้านในท้องถิ่นหรือหลักฐานอื่นๆ จึงสรุปได้ว่าคนบางคล้านั้น มีความภาคภูมิใจในแผ่นดินและบรระบุรุษของตนเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสร่วม รับใช้แผ่นดิน เมื่อครั้งที่พระเจ้าตากสินมหาราชทรงสร้างพระวีรกรรมต่อต้านศัตรูที่มาตั้ง ค่ายยึดมั่นอยู่บริเวณปากน้ำโจ้โล้ แม้เหตุการณ์จะผ่านมานานหลายชั่วอายุคน แต่ก็ยังตราตรึงในความทรงจำของคนบางคล้าอยู่จนทุกวันนี้

ชื่อเมือง
        บางคล้า เป็นชื่อที่ตั้งขึ้นมาจากพรรณไม้ชนิดหนึ่งที่เรียกว่า “ต้นคล้า” ซึ่งเป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก มีเหง้าใต้ดินและแตกหน่อออกเป็นกอใหญ่ลำต้นสูงถึง ๒ เมตร แตกกิ่งก้านตอนปลายใบคล้ายใบกล้วยแต่มีขนาดเล็กกว่ากันมาก ดอกมีสีขาวออกเป็นช่อห้อยลงมาเป็นสาย ผลกลม พบขึ้นมากตามป่าดิบเขาริมลำธาร และที่ชุ่มชื่น ลำต้นใช้จักสานทางภาคเหนือเรียกว่า “แหย่ง”
ปัจจุบัน ต้นคล้าในเขตบางคล้ามีเหลือน้อยมาก เท่าที่ยังเหลืออยู่ก็เพราะชาวบ้านปลูกเอาไว้ใช้ประโยชน์ในการนำลำต้น มาเย็บจากเท่านั้น แต่ในปัจจุบันเนื่องจากความต้องการในการใช้จากมุงหลังคาอาคารบ้านเรือนลด น้อยลง เพราะมีวัสดุอื่นๆ ที่สะดวกกว่าจึงไม่ค่อยจะนิยมกันมากเหมือนแต่ก่อน

        เหตุที่ตั้งชื่อว่า “อำเภอบางคล้า” ก็เพราะว่าอำเภอบางคล้า ที่ตั้งขึ้นมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๔ นั้นมีที่ว่าการอำเภอตั้งอยู่บริเวณปากคลองบางคล้า ตำบลบางสวน ตรงที่ตั้งวัดใหม่บางคล้าในปัจจุบัน เนื่องจากตรงที่จุดเดิมเป็นหมู่บ้านหมู่หนึ่ง เรียกว่า “บ้านบางคล้า” เมื่อมีการตั้งที่ว่าการอำเภอจึงตั้งชื่ออำเภอว่า “อำเภอบางคล้า”

        เดิม ที่ว่าการอำเภอบางคล้าตั้งอยู่ที่ตำบลบางสวน ต่อมาได้ย้ายที่ว่าการอำเภอบางคล้ามาที่ตำบลเตาสุรา สาเหตุที่เรียกว่าตำบลเตาสุราก็เพราะว่า มีโรงต้มเหล้าของทางราชการตั้งอยู่ โดยชาวบ้านเรียกกันตามภาษาชาวบ้านว่า “โรงเหล้า” อยู่ห่างจากที่ตั้งที่ว่าการเดิมไปประมาณ ๕ กิโลเมตร ไปทางตะวันออก ต่อมาเห็นว่าชื่ออำเภอไม่ตรงกับชื่อตำบลจึงได้มีการเปลี่ยนชื่อตำบลเตาสุรา เป็นบางคล้าตามชื่ออำเภอ และใช้เรียกกันมาจนทุกวันนี้

ที่ว่าการอำเภอบางคล้าเก่าอาคารเทศบาลหลังเก่า

การปกครอง
        การ กำหนดเขตการปกครองพื้นที่เป็นจังหวัด อำเภอ หรือตำบล ตั้งแต่ในอดีตจนการะทั่งปัจจุบันยังมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงกันอยู่เสมอ เพื่อความเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา ในแต่ละยุคแต่ละสมัย เช่น จังหวัดฉะเชิงเทราก็ต้องมีการเปลี่ยนแปลงในลักษณะเดียวกันนี้หลายครั้งหลาย หน ที่นำมากล่าวไว้ในที่นี้จะกล่าวเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับอำเภอท้องถิ่นอำเภอ บางคล้าเท่านั้น

        อำเภอหัวไทร ตั้งขึ้นเมื่อพุทธศักราช ๒๓๘๗ โดยมีหลวงนา (เกตุ) เป็น นายอำเภอคนแรก ตั้งที่ว่าการอำเภอที่บริเวณตลาดเก่าตำบลหัวไทรในปัจจุบัน จากรายงานของพระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นมรุพงษ์ศิริพัฒน์ในการตรวจราชการใน สมัยที่ขุนศรีสิทธิการเป็นนายอำเภอ บอกลักษณะของที่ว่าการอำเภอว่าเป็นรูปทรงปั้นหยา เครื่องไม้ไผ่ มีโต๊ะ เก้าอี้ ตั้งกับพื้นดิน ดูโซเซจวนจะหักพัง มีฝุ่นฝอยเศษกระดาษทิ้งอยู่ทั่วไปลักษณะไม่เหมือนเป็นที่ทำการของรัฐบาล ท้องที่อำเภอหัวไทรเดิมเป็นเขตของเมืองพนมสารคาม ต่อมาได้แบ่งแยกออกมาตั้งเป็นอำเภอหัวไทรในภายหลัง เมื่อแรกจัดตั้งมณฑลเทศาภิบาล อำเภอหัวไทร แบ่งออกเป็น ๑๑ ตำบล ๑๔๓ หมู่บ้าน มีพลเรือนราว ๖,๓๕๖ คน มีบ้านเรือนราษฎรประปรายไม่หนาแน่นอยู่ระหว่างเขตแดนติดต่อกับเมืองพนมสาร คาม อำเภอเมืองและอำเภอบางน้ำเปรี้ยว ถ้าดูตามลำน้ำบางปะกง ที่ว่าการอำเภอหัวไทรกับที่ว่าการอำเภอบางคล้า ห่างกันประมาณ ๑ ชั่วโมงเศษ ในการใช้การเดินทางเรือในสมัยนั้น จากรายงานการไปตรวจราชการในครั้งนั้นยังเห็นว่าควรจะยกเลิกอำเภอหัวไทรเสีย แล้วย้ายไปตั้งตำบลสนามจันทร์ ที่อยู่ทางตอนใต้ของเมืองฉะเชิงเทรา ขึ้นเป็นอำเภอสนามจันทร์แทนอำเภอหัวไทร และให้ท้องถิ่นอำเภอหัวไทรรวมเป็นท้องถิ่นอำเภอบางคล้า ส่วนเขตพื้นที่อำเภอบางคล้าทางตอนใต้นั้นถ้ารวมเอาพื้นที่ ของอำเภอหัวไทรเข้ามาไว้ด้วยก็จะมีพื้นที่มากเกินกว่าความปกครองของอำเภอที่ จะตรวจตราดูแลให้ทั่วถึงได้ ครั้นจะให้อำเภอหัวไทรคงอยู่เป็นอำเภอก็เห็นว่าเป็นการสิ้นเปลื้องพระราช ทรัพย์ ดังนั้นจึงเห็นควรให้แบ่งพื้นที่เป็นเขตเมืองพนมสารคามบ้าง เป็นเขตอำเภอเมืองฉะเชิงเทราบ้างแต่ยังคงเรียกนามเป็นอำเภอบางคล้าตามเดิม และให้ย้ายที่ว่าการอำเภอบางคล้าไปตั้งอยู่ที่ตำบลเตาสุราทางตะวันออกเพราะ เห็นว่าเป็นที่ประมาณกึ่งกลางของพื่นที่อำเภอ ประชาราษฎรไปมาติดต่อราชการได้สะดวก การปรับปรุงพื้นที่การปกครองนี้ยังทำให้เมืองฉะเชิงเทรายังแบ่งการปกครองออก เป็น ๕ อำเภอตามเดิม ได้แก่ ๑. อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา ๒. อำเภอบางคล้า ๓. อำเภอบางน้ำเปรี้ยว ๔. อำเภอหัวไทร ซึ่งจะเปลี่ยนเป็นอำเภอสนามจันทร์ และ ๕. อำเภอพนมสารคาม เพียงแต่มีการเปลี่ยนแปลงแบ่งพื้นที่ใหม่ตามความสะดวกในการปกครอง

        อำเภอ หัวไทรถูกยกเลิกไปเมื่อพุทธศักราช ๒๔๔๗ ตรงกับในสมัยของสมเด็จพระบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งขณะนั้น ดำรงตำแหน่งเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย

        อำเภอ บางคล้า จากรายงานการตรวจราชการอำเภอหัวไทรของกรมหมื่นมรุพงษ์ศิริพัฒน์ ที่กล่าวอ้างไปแล้วและความที่เกี่ยวข้องกับอำเภอบางคล้า ว่าควรแบ่งเขตพื้นที่ให้เป็นเขตเมืองพนมสารคามบ้างเป็นเขตเมืองฉะเชิงเทรา บ้างและย้ายที่ว่าการอำเภอบางคล้า ไปตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำบางปะกง ที่ตำบลเตาสุราทางภาคตะวันออกเป็นตำแหน่งกึ่งกลาง ประชาราษฎรติดต่อไปมาสะดวก และเห็นว่าที่ตั้งของที่ว่าการอำเภอบางคล้าไม่เหมาะสม พร้อมทั้งเขตท้องที่ปกครองยังไม่ได้สัดส่วนกัน และพื้นที่ที่ปลูกที่ว่าการอำเภออยู่นั้น ต้องอาศัยปลูกในที่ราษฎรต้องเช่าเขาจะปลูกเรือนพักกรมการอำเภอ โรงพักหรือไปรษณีย์โทรเลขก็ไม่ได้จึงจำเป็นต้องย้าย และสมควรจัดซื้อที่ดินเป็นของรัฐเพื่อที่จะสร้างที่ว่าการอำเภอได้เพียงพอ แก่ประโยชน์ใช้สอยแก่ทางราชการ

        อำเภอ บางคล้าเดิมมีเขตการปกครองทั้งหมด ๑๗ ตำบล ต่อมาทางราชการเห็นว่า อำเภอบางคล้า มีพื้นที่กว้างไกลยากแก่การที่ประชาชน จะมาติดต่อกับทางราชการได้สะดวก และยากที่จะปกครองดูแลได้อย่างทั่วถึง จึงได้แบ่งพื้นที่ทางทิศใต้ของอำเภอออกไป ๓ ตำบลได้แก่ ตำบลหัวสำโรง ตำบลแปลงยาว และตำบลวังเย็น ตั้งเป็นกิ่งอำเภอแปลงยาว เมื่อวันที่ ๑๖ ตุลาคม ปีพุทธศักราช ๒๕๒๑ ทำให้อำเภอบางคล้า เหลือตำบลทั้งหมด ๑๔ ตำบล ดังต่อไปนี้

๑. ตำบลปากน้ำ              ๖. ตำบลเสม็ดเหนือ         ๑๑. ตำบลบางเล่า
๒. ตำบลบางคล้า            ๗. ตำบลบางสวน            ๑๒. ตำบลบางตลาด
๓. ตำบลหัวไทร             ๘. ตำบลเสม็ดใต้            ๑๓. ตำบลก้อนแก้ว
๔. ตำบลบางกระเจ็ด       ๙. ตำบลคลองเขื่อน        ๑๔. ตำบลบางโรง
๕. ตำบลท่าทองหลาง     ๑๐. ตำบลสาวชะโงก

        ต่อมาในปีพุทธศักราช ๒๕๓๖ ได้มีประกาศกกระทรวงมหาดไทย วันที่ ๑๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๖ เรื่อง แบ่งเขตท้องที่อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา ตั้งเป็นกิ่งอำเภอคลองเขื่อน เนื่องด้วยท้องที่อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา มีอาณาเขตกว้างขวาง และมีพลเมืองมาก ท้องที่บางตำบลอยู่ห่างไกลที่ว่าการอำเภอ เจ้าหน้าที่ออกตรวจดูแลทุกข์สุขของราษฎรได้ไม่ทั่วถึงและสภาพท้องที่โดยทั่ว ไป เชื่อกันว่าเจริญต่อไปในภายภาคหน้า

        ดัง นั้น เพื่อประโยชน์ในด้านการปกครองและอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนในท้องที่ กระทรวงมหาดไทย อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๖๔ และมาตรา ๖๕ แห่งพระราชบัญญัติลักษณะการปกครองท้องที่ปีพุทธศักราช ๒๔๕๗ จึงแบ่งท้องที่อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทราตั้งเป็นกิ่งอำเภอ ๑ แห่ง เรียกชื่อว่า “กิ่งอำเภอคลองเขื่อน” มีเขตการปกครองรวม ๕ ตำบล คือ ตำบลก้อนแก้ว ตำบลคลองเขื่อน ตำบลบางเล่า ตำบลบางโรง และตำบลบางตลาด ส่วนสถานที่ว่าการกิ่งอำเภอคลองเขื่อนนั้น ตั้งที่ตำบลคลองเขื่อน และยังให้อยู่ในเขตการปกครองของอำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา ตั้งแต่วันที่ ๓๑ พฤษภาคม ปีพุทธศักราช ๒๕๓๖ เป็นต้นไป โดยพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ซึ่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในสมัยนั้น

        จาก ประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง แบ่งเขตพื้นที่อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา ตั้งเป็นกิ่งอำเภอคลองเขื่อนดังที่กล่าวมาแล้วนั้น ทำให้เขตท้องที่อำเภอบางคล้าในปัจจุบันมีพื้นที่เขตการปกครองเหลือ ๙ ตำบล ดังต่อไปนี้

๑. ตำบลปากน้ำ              ๖. ตำบลเสม็ดเหนือ
๒. ตำบลบางคล้า            ๗. ตำบลบางสวน
๓. ตำบลหัวไทร              ๘. ตำบลเสม็ดใต้
๔. ตำบลบางกระเจ็ด        ๙. ตำบลสาวชะโงก
๕. ตำบลท่าทองหลาง

การศึกษา

        เดิม พื้นที่อำเภอบางคล้า มีอาณาเขตครอบคลุมพื้นที่อำเภอแปลงยาว และกิ่งอำเภอคลองเขื่อน ด้วยพื้นที่กว้างใหญ่ เพื่อประโยชน์ในการปกครองอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนได้ทั่วถึง กระทรวงมหาดไทยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๖๕ พระราชบัญญัติลักษณะการปกครองท้องถิ่น พ.ศ. ๒๔๗๕ แบ่งพื้นที่อำเภอบางคล้าเป็นกิ่งอำเภอแปลงยาว เมื่อวันที่ ๑๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๒๑ ต่อมากระทรวงมหาดไทยได้ประกาศแบ่งพื้นที่อำเภอบางคล้าเป็น กิ่งอำเภอคลองเขื่อน ทั้งวัดและสถานศึกษาพื้นที่อำเภอแปลงยาว และกิ่งอำเภอคลองเขื่อนมีบทบาทต่อพัฒนาการด้านการศึกษาของอำเภอบางคล้า

การศึกษาของบางคล้ายุคแรก
ระหว่าง พ.ศ. ๒๔๔๔ – พ.ศ. ๒๕๒๑
        พัฒนาการด้านการศึกษาของอำเภอบางคล้าระยะแรกอยู่ในช่วง พ.ศ. ๒๔๔๔ – พ.ศ. ๒๕๒๑ หมายรวมถึงพื้นที่ทั้งอำเภอแปลงยาวและกิ่งอำเภอคลองเขื่อน ปัจจัยสำคัญต่อการพัฒนาการศึกษาของอำเภอ คือ การคมนาคมในยุคแรกการสัญจรไปมาอาศัยเรือเป็นส่วนใหญ่การศาสนาในพื้นที่ของ ท้องถิ่นมีวัดทั้งศาสนาพุทธ ศาสนาคริสต์ เป็นศูนย์กลางของการพัฒนาในทุกด้าน แม้แต่การศึกษาได้ก่อเกิดขึ้นที่วัดโดยอาศัยศาลาการเปรียญ หรือศาลาธรรมเป็นสถานศึกษาเล่าเรียน หน่วยงานรับผิดชอบการศึกษา คือ ธรรมการอำเภอ และสถานศึกษาอาจถือได้ว่าเป็นโรงเรียนประชาบาลแห่งแรกของอำเภอ คือ โรงเรียนวัดใหม่บางคล้าในปัจจุบัน ได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๘ หลังจากที่ได้ก่อตั้งอำเภอเพียง ๔ ปี ระยะต่อมามีสถานศึกษาที่ได้ถือกำเนิดมาจากวัดเป็นจุดเริ่มและจัดการศึกษาใน ระดับประถมศึกษามีความเป็นมา ในลักษณะเช่นเดียวกัน คือ อาศัยศาลาการเปรียญเป็นที่ศึกษา

        การ ศึกษาระดับก่อนประถมศึกษา และประถมศึกษา ในส่วนของสถานศึกษาพื้นที่รอยต่อของอำเภอแปลงยาวกับอำเภอบางคล้าปัจจุบันที่ มีบทบาทต่อการศึกษาของอำเภอบางคล้า อดีตเคยใช้เป็นสถานที่สอบไล่ปลายปี จัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา ได้แก่ โรงเรียนวัดหัวสำโรง โรงเรียนวัดด่านเงิน โรงเรียนวัดไผ่แก้ว ในส่วนสถานศึกษาพื้นที่ของกิ่งอำเภอคลองเขื่อน ที่ใช้ในการจัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาทำนองเดียวกันครั้งในอดีต ขณะนั้นรงเรียนวัดหัวไทรยังไม่ได้ก่อตั้งประชาชนในหมู่ที่ ๑ , ๒ ตำบลหัวไทรและใกล้เคียง ข้ามแม่น้ำโดยอาศัยเรือไปศึกษาเรียนที่โรงเรียนวัดบ้านกล้วย และโรงเรียนที่ประชาชนจากพื้นที่อำเภอบางคล้าข้ามฝั่งไปศึกษาเล่าเรียน ได้แก่ โรงเรียนวัดคลองเขื่อน โรงเรียนวัดบางโรง โรงเรียนวักสามง่าม โรงเรียนราษฎรนุกุล โรงเรียนวัดคุ้งกร่าง และโรงเรียนวัดบางตลาด การบริหารจัดการศึกษาระดับก่อนประถมศึกษา ระดับประถมศึกษา

        ใน ส่วนของอำเภอบางคล้า มีสถานศึกษาทั้งภาครัฐบริหารจัดการ ได้แก่ โรงเรียนประชาบาลของรัฐ เช่น โรงเรียนสุตะโชติประชาสวรรค์ หรือโรงเรียนวัดต่างๆ และภาคเอกชนบริหารจัดการ ได้แก่ โรงเรียนประสาทศิลป์ (ยุบเลิกไป ประมาณปี ๒๔๙๒) โรงเรียนบุญส่งราษฎร์บำรุง (บ.ร.) ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๖ ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนเสริมปัญญาเยาวชน (ส.ป.ย.) เปิดสอนระดับมัธยมศึกษา พ.ศ. ๒๕๒๔ ซื้อโอนกิจการเป็นของกรมสามัญศึกษากระทรวงศึกษาธิการ เปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนบางคล้าพิทยาคม (บ.พ.) โรงเรียนสุตะบำรุงพิทยาคาร (ส.พ.) เปิดสอนระดับก่อนประถมศึกษาถึงระดับมัธยมศึกษา โรงเรียนจีนกงลิบซือง้วน เปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนรุ่งโรจน์วิทยา โรงเรียนดาราจรัส (ด.จ.) โรงเรียนปลูกวิทยา (ปัจจุบันยุบเลิก)

        การ ศึกษาระดับมัธยมศึกษาในอำเภอบางคล้า ระยะแรก มีการบริหารจัดการศึกษาโดยภาคเอกชน ได้แก่ โรงเรียนบุญส่งราษฎร์บำรุง หรือ โรงเรียนเสริมปัญญาเยาวชนและโรงเรียนสุตะบำรุงพิทยาคาร จากการที่อำเภอบางคล้า มีการบริหารจัดการการศึกษาที่มีคุณภาพครบทุกระดับ ประชาชนในพื้นที่อำเภอบางคล้า อำเภอแปลงยาว และกิ่งอำเภอคลองเขื่อน จะเดินทางเข้ามาศึกษาในอำเภอบางคล้าเป็นส่วนใหญ่ สถานศึกษาระดับมัธยมศึกษาของภาครัฐที่ก่อตั้งขึ้นในภายหลังคือ โรงเรียนหัวไทรวิทยา ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ ๒๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๑๙ โดยพระมหาสง่า วีรัปปัญญาโณ (หมายเหตุพระรูปนี้ไม่ใช่เจ้าอาวาสวัด หัวไทร ท่านเป็นพระผ้๔ใหญ่ที่เป็นชาวหัวไทรแล้วมาทำคุณประโยชน์ให้กับหมู่บ้านในขณะนั้น) ต่อ มาเป็นพระครูธรรมธีปาจารย์ เจ้าอาวาสวัดมูลเหล็ก อำเภอบ้านสร้าง จังหวัดปราจีนบุรี ให้เป็นโรงเรียนสังกัดกรมสามัญศึกษาประจำตำบล ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากองค์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ พระราชทานนามใหม่ว่า “โรงเรียนวัดเปี่ยมนิโครธาราม” และโรงเรียนบางคล้าพิทยาคม กรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ซื้อโอนมาจากโรงเรียนเสริมปัญญาเยาวชน วันที่ ๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๒๔

การศึกษาของบางคล้ายุคหลังแบ่งการปกครอง
ระหว่าง พ.ศ. ๒๕๒๒ – ปัจจุบัน
แปลงยาว – คลองเขื่อน
        การ ศึกษาของบางคล้าในระยะนี้มีการเปลี่ยนแปลง คือ โรงเรียนในสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดฉะเชิงเทรา โดยมติคณะรัฐมนตรีให้โอนกิจการไปขึ้นกับสำนักคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่ง ชาติ กระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๒๓ ต่อมามีการแบ่งเขตปกครองของอำเภอบางคล้าออกไปเป็นกิ่งอำเภอคลองเขื่อน โรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ สำนักงานการประถมศึกษาอำเภอบางคล้า ได้เข้าร่วมโครงการขยายโอกาสทางการศึกษาขยายการศึกษาในโรงเรียนถึงระดับ มัธยมศึกษาตอนต้น ได้แก่ โรงเรียนวัดปากน้ำ โรงเรียนวัดศรีสุตาราม โรงเรียนท่าระหัดราษฎร์สฤษฎิ์ โรงเรียนวัดสนามช้าง และโรงเรียนสังกัดเทศบาลตำบลบางคล้า คือโรงเรียนเทศบาล ๑ วัดแจ้ง โรงเรียนสังกัดกรมสามัญศึกษาขยายการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ได้แก่ โรงเรียนวัอเปี่ยมนิโครธาราม

สถาบันราชภัฎราชนครินทร์ ศูนย์บางคล้า
        สถาบันราชภัฎราชนครินทร์ มีสถานที่ปฏิบัติงานภายในจังหวัด ฉะเชิงเทรา แยกเป็น ๓ แห่ง ดังนี้
สถาน ที่ปฏิบัติงานดั้งเดิมตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง อยู่ในอำเภอเมืองฉะเชิงเทรา ใกล้วัดโสธรวรารามวรวิหาร สถานที่ประดิษฐานหลวงพ่อพุทธโสธร และกองพันทหารช่างที่ ๒ (ค่ายศรีโสธร) มี สถานที่ปฏิบัติงานแยกกันเป็น ๒ แห่ง คือ แห่งแรก ตั้งอยู่ ณ เลขที่ ๔๒๒ ถนน มรุพงษ์ ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา ๒๔๐๐๐ บนเนื้อที่ ๔๓ ไร่เศษ เป็นที่ของสำนักงาน อาคารเรียน อาคารปฏิบัติการ และอาคารที่ทำการต่างๆ แห่งที่ ๒ ตั้งอยู่ ณ เลขที่ ๔๐ ถนนศรีโสธรตัดใหม่ ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา ๒๔๐๐๐ ม่พื้นที่ประมาณ ๑๗ ไร่ เป็นพื้นที่ซึ่งได้รับนริจาคจากคุณฉลองขวัญ อินทรวสุ และจัดซื้อเพิ่มเติม ใช้เป็นที่ทำการของโปรแกรมวิชาเกษ๖ณศาสตร์และเป็นบริเวซณที่พักอาศัยของข้า ราชการพนักงานของสถาบันราชภัฏ แห่งที่ ๓ ตั้งอยู่ ณ เลขที่ ๖ หมู่ ๔ ตำบลหัวไทร อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา มีพื้นที่ประมาณ ๕๐๐ ไร่ เป็นที่สาธารณประโยชน์ซึ่งกระทรวงมหาดไทยอนุมัติให้ใช้เป็นที่ตั้งสถาบันฯ เมื่อวันที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๓๙

        สถาบัน ราชภัฎราชนครินทร์ศูนย์บางคล้า เปิดใช้ประโยชน์ด้านการเรียนการสอนตั้งแต่ภาคเรียนที่ ๒ ปีการศึกษา ๒๕๔๑ และ มีพิธีเปิดเป็นทางการโดยสถาบันฯ ขอประทานพระวโรกาสเชิญเสด็จสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอกัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เป็นองค์ประธานเปิดสถาบันราชภัฏราชนครินทร์ ศูนย์บางคล้า อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๓ ปัจจุบันศูนย์บางคล้า จัดการเรียนการสอนสำหรับนักศึกษาภาคปกติประมาณ ๒,๐๐๐ คน

        จากประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๐ มีการเปลี่ยนแปลงไปสู่การปฏิรูปการศึกษาประกาศใช้พระราชบัญยัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ องค์กร และบุคคลที่เกี่ยวข้อง กับการบริหารการจัดการศึกษาในอำเภอบางคล้าได้มีการปรับเปลี่ยนกระบวนการจัด กิจกรรมการเรียนรู้และอื่นๆ อย่างหลากหลาย ซึ่งได้ปฏิบัติการผ่านมาในช่วงเวลาขวบปีล้วนแต่ส่งผลในเชิงบวกต่อการศึกษา ของอำเภอบางคล้าทั้งสิ้น

สถานศึกษาทุกสังกัดในพื้นที่อำเภอบางคล้า

สำนักงานคณะกรรมการประถมศึกษาแห่งชาติ มี ๒๑ โรงเรียน
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน มี ๓ โรงเรียน
กรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ มี ๒ โรงเรียน
สังกัดเทศบาลตำบลบางคล้า มี ๒ โรงเรียน
กรมการศึกษานอกโรงเรียน มี ๑ แห่ง
สภาสถาบันราชภัฏ กระทรวงศึกษาธิการ มี ๑ แห่ง


เหตุการณ์สำคัญในประวิติศาสตร์

สมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
        อำเภอ บางคล้าเป็นสถานที่ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ ชาติไทย ตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาถูกพม่าล้อมเมืองไว้ก่อนที่จะเสียกรุงครั้งที่ ๒ สมเด็จพระเจ้าตากสิน เมื่อครั้งยังเป็นพระยาวชิรปราการ เจ้าเมืองกำแพงเพชร ซึ่งได้รับคำสั่งให้รักษาเมืองศรีอยุธยา เห็นว่า กรุงศรีอยุธยาต้องเสียให้แก่พม่าแน่แท้ จึงตัดสินใจรวบรวมพรรคพวกไทย – จีนได้ ๕๐๐ คน ตีหักพม่าออกจากกรุงศรีอยุธยา โดยท่านมีปืนกระบอกเดียว ไพร่พล ๕๐๐ ( ไทยรบพม่าของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ) พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับ พันจันทนุมาศ (เจิม) ว่าประมาณ ๑,๐๐๐ เศษ มีอาวุธเพียงหอก ดาบ แหลน หลาว ฝ่ากองทัพพม่า ได้รบกับพม่าเป็นสามารถ ครั้นวันรุ่งขึ้นได้ยกกองทัพไปถึงบ้านโพธิ์สามหาว (พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถ์เลขา เรียกว่า บ้านโพสังหาร) พม่า ยกทัพติดตามไป จึงให้ตระเตรียมพลทหารไทย – จีน ไว้ ครั้นกองทัพพม่ายกมาถึง จึงออกรบเป็นสามารถ พม่าแตกกระจัดกระจายพ่ายแพ้ไป เก็บได้เครื่องศาสตราวุธเป็นอันมาก

        จึง หยุดประทับแรมอยู่พรานนก ครั้นรุ่งขึ้น ขุนชำนาญ ไพรสณฑ์ และนายกองช้างสามิภักดิ์ นำช้างมาถวาย พลาย ๕ เชือก พัง ๑ เชือก เข้าเป็น ๖ เชือกนำเสด็จไปถึงบ้านบางดง ขุนเมืองพันทนายบ้านมิได้เชื่อบารมีขัดแข็งคิดประทุษร้าย รุ่งขึ้นจึงนำพลทหาร ๒๐ ฝ่าเข้าไป ไล่ตะลุมบอนฟันทหารชาวบ้านบางดง แตกกระจัดกระจายหนีไป ได้ช้างพลาย ช้างพัง ๗ เชือก และได้ธัญญาหารเป็นอันมากจากพระราชพงศาวดาร ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) จารึกไว้ดังนี้… “ครั้น เพลาบ่าย ๔ โมง พม่าไล่แทงฟันคน ซึ่งเมื่อยล้าอยู่นั้นวิ่งหนีมาตามทาง ครั้นได้ทอดพระเนตรเห็น จึงได้นายบุญมีขึ้นม้าใช้สวนทางลงประมาณ ๒๐๐ เส้น พบกองทัพพม่ายกขึ้นมา แต่ปากน้ำโจ้โล้ทั้งทัพบกทัพเรือ มาขึ้นที่ท่าข้าม ครั้นเห็นธงเทียว เสียงฆ้องกลอง รู้ว่าเป็นพม่ามั่นคงแล้ว ก็กลับมากราบทูลตามได้เห็นทุกประการจึงรับสั่งให้พลทหารตั้งปืนตับใหญ่น้อย ดาชุ่มอยู่ ๒ ข้างงทาง แล้วให้คนหาบเสบียงครัวไปก่อน แต่พระองค์กับทหารประมาณ ๑๐๐ เศษ คอยรับพม่า ครั้นเพลาบ่ายโมงเศษพม่ายกกองทัพมาถึง จึงเสด็จนำหน้าพลทหารด้วยหลวงชำนาญไพรสณฑ์ พระเชียงเงิน นายบุญมี นายทองดี นายแสง ทหารยกออกมารับล่อพม่านอกปืนใหญ่น้อยซึ่งตั้งดาไว้ ประมาณ ๖ – ๗ เส้น พม่ายกทัพเรียงเรื่อยมาจำเพาะในพงแขม ครั้นเข้ามาใกล้ได้ทีแล้ว ก็ยิงปืนใหญ่น้อยถูกพม่าล้มตายทับกันเป็นอันมากพม่าหนุนเข้ามาอีก วางปืนตับคำรบ ๓ ครั้ง พม่าแตกกระจัดกระจายไปจึงรับสั่งให้พลทหารโห่ร้องตีฆ้องกลองสำทับพม่าแตกจะ คุมกันเข้ามิได้ จึงให้ยกพลนิกายมาประทับตามลำดับ บ้านทองหลาง ตะพานทอง บางปลาสร้อยถึงบ้านนาเกลือ” จากนั้น เดินทางต่อไปยังจันทบุรี เพื่อรวมกองกำลังกู้ชาติ

        ณ บริเวณปากน้ำโจ้โล้ปัจจุบัน คือ ตำบลปากน้ำ อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นจุดที่พระยาวชิรปราการพักทัพ และสู่รบกับ พม่าจนได้ชัยชนะทั้งๆ ที่พม่ามีกองกำลังมากกว่า หลังจากรบกันที่ปากน้ำโจ้โล้แล้ว พม่าก็เลิกติดตามทัพไทย ปล่อยให้เดินทางต่อไปจนกระทั่งกู้อิสรภาพได้ เมื่อขึ้นครองราชย์แล้ว สมเด็จพระเจ้าตากสินจึงได้มีพระบรมราชโองการให้สร้างเจดีย์ ณ บริเวณปากน้ำโจ้โล้ เป็นอนุสรณ์การสู้รบในครั้นนั้น เจดีย์อนุสรณ์สถานนี้ ถุกกระแสน้ำกัดเซาะพังทลายลงน้ำไปเมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๔๙๑ ทางราชการพิจารณาแล้ว จึงอนุมัติงบประมาณ ให้สร้างขึ้นใหม่ เมื่อปี ๒๕๔๓ พระสถูปเจดีย์ที่สร้างขึ้นใหม่ สร้างขึ้น ณ จุดเดิมใช้งบประมาณรวมทั้งสวนสาธารณะรอบๆ พระสถูปด้วย เป็นเงินทั้งสิ้น ๑๒,๓๕๐,๐๐๐ บาท (สิบสองล้านสามแสนห้าหมื่นบาทถ้วน)

สมัยรัชกาลที่ ๕
    ใน รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีจารึกในประวัติศาสตร์มหาดไทยส่วนภูมิภาค ว่าล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๕ ได้เสด็จประพาสเมืองฉะเชิงเทรา ถึง ๓ ครั้ง ครั้งที่ ๑ ในราว พ.ศ. ๒๔๒๐ ไม่มีหลักฐานว่าเสด็จไปที่ใดบ้าง

ครั้งที่ ๒ เสด็จประพาสเมืองฉะเชิงเทรา เพื่อเปิดทางรถไฟสายกรุงเทพฯ – ฉะเชิงเทรา เมื่อวันที่ ๒๗ มกราคม ร.ศ. ๑๒๖ (พ.ศ. ๒๔๕๐)

ครั้ง ที่ ๓ เสด็จประพาสเมืองฉะเชิงเทรา โดยผ่านคลองรังสิตไปทางนครนายก และเมืองปราจีนบุรีก่อน แล้วเสด็จล่องจากเมืองปราจีนบุรี โดยทางเรือบางขนากเข้าปากน้ำโจ้โล้บริเวณตำบลปากน้ำ อำเภอบางคล้าในปัจจุบัน ตามความในพระราชหัตถเลขา (ฉบับที่ ๒) เมื่อวันที่ ๒๔ ธันวาคม ร.ศ. ๑๒๗ ทรงเขียนถึงมกุฎราชกุมาร

“…วันที่ ๑๙ ล่องจากเมืองปราจีนบุรี…ถึงสวนเมือง ฉะเชิงเทรา มีคลองลัดแห่งหนึ่งอยู่ฝั่งขวา ดูฝั่งทั้ง ๒ ฟาก ค่อย งดงามเพลิดเพลิน…แวะเข้าปากน้ำเจ้าโล้ ซึ่งเป็นลำน้ำไปเมืองพนม-สารคามและเมืองสนามไชยเขต…เห็น สวนไร่บริบูรณ์ดีมาก ไร่สับปะรดเหล่านี้แลสุดตาทั้ง ๒ ฟาก ต้นมะม่วงงามๆ แต่มีความเสียใจที่จะกล่าวว่าเจ้าของไร่สับปะรด เหล่านี้เป็นเจ๊กมาก มีไทยที่เป็นปึกแผ่นอยู่ก็หม่อมหลวงศิริ ลูกพระยาอิศรพันธุ์

สมัยปัจจุบัน
        พระ บาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินมาทรงประกอบพิธีเปิดอาคารเรียน “วีรปัญญานุสรณ์” และทรงตัดลูกนิมิต วัดเปี่ยมนิโครธาราม (วัดหัวไทร) อำเภอบางคล้าจังหวัดฉะเชิงเทรา เวลาประมาณ ๑๕.๓๐ น. เมื่อวันที่ ๑๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๔

        วัดเปี่ยมนิโครธาราม (วัดหัวไทร) ตั้งอยู่บนฝั่งตะวันออกของแม่น้ำบางปะกง หมู่ที่ ๑ ตำบลหัวไทร (เดิมชื่อ ตำบลคูมอญ) อำเภอ บางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา ห่างจากที่ว่าการอำเภอไปทางเหนือ ประมาณ ๖ กิโลเมตร มีเนื้อที่ตั้งวัด ๑๓ ไร่ ๓ งาน ๔๒ ตารางวา นับว่าเป็นตำบลใหญ่ตำบลหนึ่ง ในจำนวน ๑๗ ตำบล ของอำเภอบางคล้า (ก่อนที่จะแยกกิ่งอำเภอคลองเขื่อนออกไป) เป็น ศูนย์กลางของการคมนาคม ทั้งทางบกและทางน้ำ ระยะทางใกล้ที่สุด จากวัดหัวไทร ถึงกรุงเทพฯ ประมาณ ๙๐ กิโลเมตร โดยผ่านอำเภอมีนบุรี อายุของวัดนี้ ประมาณ ๑๒๔ ปี เมื่อกาลเวลาล่วงไปสิ่งก่อสร้างเสนาสนะและถาวรวัตถุได้ชำรุดทรุดโทรมไปตาม สภาพ เช่น ประตูอุโบสถเดิม เล็ก คับแคบ และปรักหักพังไม่เหมาะแก่การกระทำอุโบสถสังฆกรรมของพระภิกษุสงฆ์ เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๐๐ ท่านพระครูผิน พุทธสโร เจ้าอาวาสในช่วงเวลานั้น

        โรงเรียนประชาบาลของวัดนี้ ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ ๒๕ กันยายน พ.ศ. ๒๔๗๕ โดยใช้ศาลาการเปรียญของวัดเป็นสถานที่อาศํยการศึกษาเล่าเรียน ครั้นกาลต่อมาได้มีนักเรียนทวีมากขึ้นโดยลำดับ และยังต้องอาศัยศาลาการเปรียญ ศึกษาอยู่ไม่สะดวกด้วยประการต่างๆ นายแถม ใยสุนทรเสณี ครูใหญ่ช่วงนั้น จึงได้ทำเรื่องเสนอตามลำดับ ผ่านกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย เพื่อของบประมาณพิเศษสร้างอาคารเรียน โดยพระมหาสง่า วีรัปปัญญาโณ แห่งสำนักวัดเทพศิรินทราวาส จังหวัดพระนคร เป็นผู้ให้ความกรุณาติดต่อขอความช่วยเหลือจากกองการศึกษาประชาบาล กรมการปกครอง ทางกรมจึงอนุมัติเงินงบประมาณ จำนวน ส๒๕๕,๐๐๐ บาท (สองแสนห้าหมื่นห้าพันบาทถ้วน) นาย ช่างผู้ประมูล จึงได้เริ่ม ทำการก่อสร้างอาคารเรียน ขนาด ๑๒ ห้องเรียน ๒ ชั้น โดยสร้าง ๖ ห้องเรียนข้างบนไปก่อนเป็นไม้ตามกำลังงบประมาณ ต่อมาเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๒ พระมหาสง่า วีรัปปัญญาโณ ได้ทำเรื่องเรียนขอความอนุเคราะห์จาก ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีในฐานะประธานกรรมการกองสลากกินแบ่งรัฐบาล เพื่อของบประมาณการกุศลอีกเป็นจำนวนเงิน ๒๔๐,๐๐๐ บาท (สองแสนสี่หมื่นบาทถ้วน) เพื่อ ก่อสร้างเพิ่มเติมชั้นล่างอีก ๖ ห้องเรียน ทางกองสลากได้อนุมัติให้ตามความประสงค์ โดยผ่านทางกรมการปกครอง จึงได้ก่อสร้างลงสำเร็จเรียบร้อย คณะกรรมการพร้อมด้วยคณะสงฆ์ และพุทธศาสนิกชนชาวตำบลหัวไทร อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา จึงพร้อมกันขะพระราชทานกราบบังคมทูลขอพระมหากรุณาอัญเชิญเสด็จพระราชดำเนิน พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชชินีนาถ เสด็จไปทรงประกอบพิธีตัดลูกนิมิต และทรงเปิดอาคารเรียน “วีรปัญญานุสรณ์” ในวันที่ ๑๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๔ เพื่อเป็นศิริมงคล และเป็นเกียรติประวัติของชาวหัวไทร อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา สืบไป


สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์

ศาลอนุสาวรีย์พระเจ้าตากสินมหาราช
        ประมาณปี พ.ศ. ๒๕๓๐ ใน สมัยที่ นายชัยโรจน์ ประภาวัต เป็นนายอำเภอบางคล้า และนายวิสูตร ศรีสุนทร เป็นนายกเทศมนตรีเทศบาล ตำบลบางคล้า ได้ร่วมคิดกันกับประชาชนชาวบางคล้าและมีความเห็นกับประชาชนในเขตเทศบาล เห็นพ้องต้องกันว่า ควรจะดำเนินการอัญเชิญสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ควรรู่บ้าน คู่เมือง ขึ้นสถิต ณ สถานที่ในเขตเทศบาลที่ใดที่หนึ่ง เพื่อให้เกิดความคุ้มครอง ปกปักรักษาเมือง บันดาลให้รุ่งเรือง ประชาชนสงบสุข เป็นขวัญและกำลังใจแก่ชุมชนที่จะช่วยกันพัฒนาความอยู่ดีกินดีให้ เกิดขึ้นในอนาคต

        จาก ความดำริ จึงตั้งคณะกรรมการฯ ชุดค้นหาประวัติบางคล้าในเชิงประวัติศาสตร์ ขึ้นค้นคว้าในหลายๆแหล่ง ความรู้เฉพาะจากหอสมุดแห่งชาติ พบว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช มีความเกี่ยวเนื่องกับภูมิประเทศ ที่ตั้งอำเภอบางคล้าอย่างยิ่ง

        โดยสรุป ประมาณ พ.ศ. ๒๓๑๐ พระองค์ท่านได้ฝ่าวงล้อมของข้าศึกที่ล้อมกรุงศรีอยุธยาออกทางทิศตะวันตก มุ่งตรงปราจีนบุรี และหยุดรวมพลอยู่ ณ รอยต่อจังหวัดปราจีนบุรีกับฉะเชิงเทรา (เข้าใจว่าเป็นบริเวณศรีมหาโพธิ์ปัจจุบัน) และข้าศึกได้ส่งกองทัพเรือออกสกัดกั้นมาตั้งมั่นรบพระองค์อยู่ที่ปากน้ำโจ้โล้บางคล้า (ที่ตั้งพระสถูปเจดีย์ปัจจุบัน) พร้อม ส่งทหารหน่วยสอดแนม กองโจร เข้าจู่โจมขึ้นมาบริเวณที่พระองค์ตั้งรับ ปรากฏว่าข้าศึกถูกฆ่าตายสิ้น กระทั่งพระองค์เห็นว่าข้าศึกอ่อนแรงแล้ว จึงเคลื่อนทัพเข้าตีที่มั่นบริเวณปากน้ำโจ้โล้ จนได้รับชัยชนะ จากนั้นจึงพักรวบรวมพลอีกครั้งหนึ่ง (เข้า ใจว่าวัดโพธิ์บางคล้าเป็นที่พัก สันนิษฐานจากพระอุโบสถเก่าที่รื้อไปแล้ว เป็นสถาปัตยกรรมจีน ที่พระองค์สร้างไว้ เป็นอนุสรณ์ในภายหลัง) และออกเดินทางนำทัพผ่านท่าทองหลาง (ต. ท่าทองหลาง ปัจจุบัน) ตรง ไปยังบางปลาสร้อย ชลบุรีถึงระยอง เจ้าเมืองระยองสวามิภักดิ์ได้ไพร่พลมากขึ้น เคลื่อนทัพเข้าตีเมืองจันทบุรีได้ และตั้งมั่นรวบรวมกำลังสร้างอาวุธยุทโธปกรณ์ เพื่อกอบกู้เอกราชในเวลาต่อมา จะเห็นว่า บริเวณปากน้ำโจ้โล้ที่กองทัพข้าศึกแตกพ่าย และบริเวณรวบรวมพลเดินทัพมุ่งผ่านท่าทองหลาง อยู่ในเขตเทศบาลตำบลบางคล้าพื้นที่แห่งนี้จึงเป็นเสี้ยวหนี่งของการกู้ชาติ บ้านเมือง ชุมชนดั้งเดิมอันเป็นบรรพบุรุษที่นี้ ต้องมีส่วนเข้าร่วมขบวนกู้ชาติกู้แผ่นดินอย่างแน่นอน คณะกรรมการฯ ชุดสร้างศาลอนุสาวรีย์ จึงเห็นพ้องต้องกันเป็นสัญญาประชาคมให้รวมพลังทุกๆฝ่ายร่วมกันจัดสร้างศาล อนุสาวรีย์พระเจ้าตากสินมหาราชขึ้น ณ บริเวณทางเข้าเมืองบางคล้า (สวนสาธารณะหลังโรงเรียนกงลิบซือง้วน) เป็นพระรูปทรงม้าในอริยาบทกำลังออกเดินผ่านท่าทองหลาง ตามประวัติศาสตร์ที่กล่าวไว้

        การ ดำเนินการก่อสร้างเริ่มตอกเสาเข็ม เมื่อวันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๓๐ โดยนายอำเภอบางคล้าเป็นคู่สัญญากับอาจารย์จากกรมศิลปากรเพื่อจัดสร้างพระรูป ทรงม้า และเทศบาลบางคล้ารับผิดชอบการสร้างฐานที่ตั้งพระรูปรวมทั้งงบประมาณการก่อ สร้าง ขณะนั้น เริ่มต้นจากเงินของชุมชนชาวบางคล้า ที่เหลือประมาณ ๔๐,๐๐๐ บาท และได้จัดหาทุนสมทบจากการสร้างเหรียญบอกบุญไปยังเทศบาล ทั่วประเทศ และได้จากการจัดงานชุมชุนชาวบางคล้าในปี ๒๕๓๐ อีกโสตหนึ่งจนเสร็จเรียบร้อย ได้ทำพิธีอัญเชิญพระรูปขึ้นแท่นสักการะ เมื่อวันที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๓๑ โดยท่านผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา นายกิตติ ประทุมแก้ว ใช้เวลาก่อสร้างรวม ๑ ปี ๖ เดือน ๑๙ วัน

พระสถูปเจดีย์พระเจ้าตากสินมหาราช
บริเวณปากน้ำโจ้โล้ (คลองท่าลาด)
        ใน สมัยกรุงศรีอยุธยาถูกพม่าโอบล้อมเมืองไว้ ก่อนที่เสียกรุง พระเจ้าตากสินได้ตีฝ่าวงล้อมของพม่าออกมาจากกรุงศรีอยุธยา ผ่านบ้านพรานนก ดงละคร พื้นที่จังหวัดนครนายกมาเข้าเขตปราจีนบุรี อำเภอบ้านสร้าง จนมาถึงบริเวณที่เรียกว่าปากน้ำโจ้โล้เพื่อที่จะมุ่งเดินทางไปยังอำเภอ พนัสนิคม อำเภอพานทอง และต่อไปยังจังหวัดชลบุรี หรือที่เรียกว่าตำบลบางปลาสร้อย ในสมัยนั้นกองทัพพม่ามีกำลังเหนือกว่าตามตีกองกำลังของพระเจ้าตากสสิน โดยใช้เส้นทางน้ำ โดยผ่านแม่น้ำโยทะกาเข้ามาแม่น้ำบางปะกงเกิดปะทะกับกองกำลังของพระเจ้าตาด สิน สู้รบกันบริเวณพื้นที่ตำบล ปากน้ำโจ้โล้ ในปัจจุบัน คือ ตำบลปากน้ำ ในการสู้รบกับพม่าด้วยพระปรีชาสามารถของพระเจ้าตากสิน สามารถเอาชนะพม่าซึ่งมีกำลังเหนือกว่าได้ เมื่อรบชนะแล้วก็สั่งให้ไพร่พลพักทัพเพื่อที่จะเดินทางต่อไปยังสถานที่ดัง กล่าวข้างต้น ในขณะที่พักทัพอยู่พระเจ้าตากสินได้สั่งให้สร้างพระเจดีย์เพื่อเป็นอนุสรณ์ ในการู้รบ กับพม่า จนมีชัยชนะตรงบริเวณปากน้ำโจ้โล้ (คลองท่าลาด) แต่ เนื่องจากบริเวณดังกล่าว เป็นแหลมมีกระแสน้ำจากคลองท่าลาดไหลบรรจบ แม่น้ำบางปะกง ทำให้กระแสน้ำกัดเซาะจนบริเวณแหลมปากน้ำที่พระเจดีย์พระเจ้าตากสินตั้งอยู่ พังทลาย เมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๔๙๑ และได้ดำเนินการก่อสร้างพระสถูปเจดีย์พระเจ้าตากสิน ขึ้นใหม่บริเวณเดิม แล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๒

ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง

        ประวัติศาลเจ้าหลักเมืองถูกไฟไหม้ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๑ ทำการก่อสร้างใหม่ เมื่อปี ๒๔๙๒ เป็นอาคารไม้ทั้งหลัง และรื้อทิ้งหมดแล้ว อาคารที่เห็นปัจจุบันสร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๐ ตัวอาคารก่อสร้างปูนประดับลวดลายจีนสวยงาม

ผู้ จัดการปกครองศาลเจ้าพ่อหลักเมือง คือ นายสิทธิชัย สิทธิวรรธนะ ผู้ตรวจตราสอดส่องศาลเจ้า คือ นายอำพล กิจเจริญไชย ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง อำเภอบางคล้า เป็นที่เคารพสักการะของคนไทยเชื้อสายจีน จะมีสักการะ และประเพณีการกินเจในเทศกาลเดือน ๑๐ ทุกปี เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งหนึ่งของอำเภอบางคล้า

วัดปากน้ำโจ้โล้(หรือเจ้าโล้)

        ตั้ง อยู่ที่หมู่ที่ ๖ ตำบลปากน้ำ อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นบริเวณที่ราบลุ่มริมฝั่งแม่น้ำบางปะกง มีแม่น้ำไหลผ่านทางด้านทิศใต้ บริเวณโดยรอบเป็นพื้นที่ราบทำการเกษตรกรรม สลับกับพื้นที่โปร่ง พื้นที่อยู่อาศัยมีอยู่ หนาแน่น บริเวณฝั่งแม่น้ำ บริเวณหน้าวัดมีคลองท่าลาดไหล มารวมกับแม่น้ำบางปะกง ทิศเหนือติดบ้านปากคลองท่าลาด ทิศตะวันออกติดบ้านปากน้ำ ทิศตะวันตกติดบ้านไร่

วัด ปากน้ำโจ้โล้  สร้างมาประมาณกว่า ๒๐๐ ปี แล้ว แต่จะสร้างเมื่อใดไม่มีหลักฐานแน่ชัด ในอดีตบริเวณนี้เป็นที่ตั้งทัพของพม่า ซึ่งยกทัพบกทัพเรือไปปะทะกับกองทัพสมเด็จพระเจ้าตากสิน ในการรบครั้งนั้นสมเด็จพระเจ้าตากสินทรงมีชัยแก่พม่า

จาก การสำรวจพบมณฑปศิลปะแบบอยุธยา – รัตนโกสินทร์ เจดีย์บรรจุอัฐิขนาดเล็ก ๒ องค์  และยังพบเครื่องถ้วยชามที่ทางวัดเก็บรักษาไว้ มีทั้งประเภทลายเบญจรงค์ เครื่องลายครามและสังคโลกจากหลักฐานที่ปรากฏอยู่ จึงสันนิษฐานได้ว่าเป็นของชุมชนในสมัย อยุธยา – ธนบุรี

วัดแจ้ง
        สร้าง ขึ้นในปีใดไม่ปรากฏ ชาวบ้านได้พากันเล่าต่อมาว่าในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ยกทัพไปตีเขมรได้เดินทัพมาสว่างบริเวณนี้ จึงทรงอนุญาตให้สร้างวัดขึ้น และขนานนามว่า “วัดแจ้ง” ความสำคัญของวัดนี้อยู่ที่พระอุโบสถซึ่งโบสถ์เดิมตั้งอยู่ฝั่งโรงเรียนวัด แจ้งสร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๕ โดยหลวงประกาศคดี ต่อมาได้มีการสร้างพระอุโบสถใหม่ขึ้น พ.ศ. ๒๔๗๙ โดยศรัทธาปสาทะของคุณยายเจียม เงี่ยมอื๊อ ด้วยเงิน ๗๐,๐๐๐ บาท ภายในพระอุโบสถด้านหน้าประดิษฐาน รูปรัชกาลที่ ๘ จารึกว่าอานันทมหิดลสยามมินทร์ ด้านข้างมีพระพุทธบาทจำลอง การก่อสร้างได้ใช้ช่างสิบหมู่จัดทำวัดจึงมีสถาปัตยกรรมเหมือนวัดหลวงเป็น ศิลปแบบไทยผสมจีน ที่มีความงามมาก หน้าบันเป็นรูปนารายณ์ ทรงครุฑ ประตูด้านหน้ามี ๓ ประตู ทำด้วยไม้แกะสลัก  ประตูด้านซ้าย ด้านขวา แกะสลักเป็นสัตว์ในป่าหิมพานต์ ประตูกลางแกะลวดลายทศชาติและปีนักษัตร เหนือซุ้มประตู กลาง ทำเป็นรูปทรงมงกุฏหน้าต่างทำด้วยไม้สักเขียนเป็นรูปเทวดา ลงรักปิดทอง ผนังรอบอุโบสถประดับลายไทย และรูปปั้นเทพพนมปัจจุบันมีการสร้างรูปปั้นยักษ์ไว้ข้างโบสถ์เป็นยักษ์วัด แจ้ง

วัดโพธิ์บางคล้า
        สร้างขึ้นในระหว่างปี พ.ศ. ๒๓๑๐ – ๒๓๒๕ สมัยพระเจ้าตากสินมหาราช เป็นศิลปสมัยรัตนโกสินทร์กับอยุธยา รูปทรงจตุรมุข ก่ออิฐฉาบปูน หลังคาทรงจั่วมุงกระเบื้องเกล็ดเต่า ทำจากดินเผา มีหน้าต่างหนึ่งช่อง มีประตู ๒ ช่อง เหนือขอบประตู ๒ ด้าน ประดับด้วยถ้วยชามสังคโลก เรียงกันเป็นรูปทรงกลมหน้าจั่วเป็นพื้นเรียบ กระเบื้องชายหลังคาเชื่อมด้วยปูน ตัววิหารมีกำแพงล้อมรอบ พร้อมมุงหลังคาและมีพระพุทธรูปปางมารวิชัยทำด้วยปูน ประดิษฐานไว้โดยรอบจำนวน ๘ องค์ ส่วนภายในวิหารมีพระพุทธรูปปางไสยาสน์ ๑ องค์ ต่อมาหลังคาวิหารและกำแพงได้ชำรุดและพังลง

        ในปี พ.ศ. ๒๔๘๕ มีผู้ใจบุญได้ซ่อมหลังคาใหม่ โดยมุ่งด้วยกระเบื้องเกล็ดเต่าเคลือบสี หน้าบันจั่วทิศตะวันตก เป็นรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ประดับด้วยลายเครือเถาหน้าบัน จั่วด้านประตูปั้นเป็นรูปดอกบัว ๕ ดอก ประดับแจกัน หลังคาประดับด้วยช่อฟ้ารูปหัวพญานาค มีใบระกา และต่อมาหลังคา และนาคปั้นก็พัง เกิดความชำรุดเสียหายอีก ทางอำเภอบางคล้า ได้ร่วมกับประชาชนบริจาคทรัพย์เพื่อซ่อมแซมขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๔๑ เป็นการอนุรักษ์ของเดิมเอาไว้เพื่อเป็นมรดกของชาติ โดยได้ทำการซ่อมหลังคาโครงสร้างใหม่หมดตั้งเสาเสริมความเข็มแข็ง ๔ ด้าน รวม ๘ ด้าน ฉาบผนังภายในโดยก่ออิฐฉาบปูนทุกด้าน เปลี่ยนฝ้าเพดาน เปลี่ยนโคมไฟ ปูพื้นใหม่ด้วยหินอ่อน และปูศิลาแลงโดยรอบวิหารทั้ง ๔ ด้าน ในงบประมาณ ๓๕๐,๐๐๐ ส่วนการประดับตกแต่งเครื่องบนตัวนาค และลวดลายหน้าบัน ทางวัดเป็นผู้ดำเนินการเพื่อให้ทรงคุณค่าทางศิลปกรรม ลัมรดกทางวัฒนธรรมต่อไป

        วัดโพธิ์บางคล้า ตั้งอยู่ที่เขตเทศบาลบางคล้า อำเภอบางคล้า พัฒนาการด้านการศึกษาของอำเภอบางคล้าระยะแรกอยุ๋ในช่วง พ.ศ. ๒๔๔๔ – พ.ศ. ๒๕๒๑ หมายรวมถึงพื้นที่ทั้งอำเภอแปลงยาว และพื้นที่อยู่อาศัยสลับกับป่าโปร่ง ทิศเหนือติดแม่น้ำบางปะกง ทิศตะวันตก และทิศใต้ติดกับคลองท่าทองหลาง พื้นที่บริเวณนี้มีคลองไหลผ่านหลายสาย ซึ่งเป็นสาขามาจากแม่น้ำบางปะกง และสันนิษฐานกันว่าบริเวณนี้เป็นเส้นทางเดินทัพสมเด็จพระเจ้าตากสิน

        การ ก่อสร้างวัดโพธิ์บางคล้านั้นไม่มีหลักฐานแน่ชัด แต่เดิมมีโบสถ์เก่าหลังหนึ่ง และภายหลังถูกรื้อทิ้งสร้างโบสถ์ใหม่ ในระหว่างการรื้อไม่พบโบราณวัตถุใดๆ จากนั้นได้มีการสำราวจพบมณฑป (มณฑปรูปทรงจตุรมุข) ก่อ อิฐ ฉาบปูนหลังคาเสียหายเล็กน้อย ส่วนหน้าบันชำรุดเสียหายมาก ประตูทางด้านข้างด้สนหน้าเหลือเพียงกรอบประตูปูนปั้นลายวงกลมรูปไข่ ตัวอาคารชำรุดเล็กน้อย โดยเฉพาะบริเวณส่วนฐานมีพระพุทธรูป ๓ องค์ เป็นพระนอนหล่อด้วยทองเหลือง ศิลปะแบบรัตนโกสินทร์องค์หนึ่ง อีก ๒ เป็นพระปูนปั้นปางมารวิชัยศิลปะแบบอยุธยาตอนปลาย

        วัด โพธิ์บางคล้ายังมีค้างค้าวแม่ไก่เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดเดียวที่บิน ได้อย่างแท้จริง มีลักษณะหน้าตาคล้ายสุนัขจิ้งจอก จมูก ใบหูเล็ก ตาโต ขนสีน้ำตาลแกมแดง ปีกสีดำเป็นพังผืดบางๆ ซึ่งอยู่ระหว่างนิ้ว นิ้วของค้างค้าวจะยาวเกือบเท่าความยาวของลำตัว นิ้วหัวแม่มือสั้นกว่านิ้วอื่นๆ เล็บแม่มือแหลมคม และโค้งได้อย่างเล็บเหยี่ยวมีไว้สำหรับจับหรือยึดกิ่งไม้โตเต็มที่เวลากาง ปีกจะยาวประมาณ ๓ ฟุต ออกลูกครั้งละ ๑ ตัว เวลานอนจะห้อยหัวลง และจะนอนในเวลากลางวัน พอจะพลบค่ำก็ออกไปหากินตามป่า ตามสวน อาหารที่ชอบมาก ได้แก่ ลูกและใบอ่อนๆของต้นไทร ต้นโพธิ์ ต้นนุ่น และผลมะม่วงแก่ ฝรั่งแก่ ฯลฯ โดยกัดเคี้ยวกลืนเฉพาะน้ำ ส่วนกากจะคายทิ้ง จึงทำให้มีการถ่ายมูลเป็นของเหลว พอรุ่งสว่างก็จะบินกลับมาที่เดิม โดยอยู่เป็นกลุ่มโดยเฉพาะบริเวณวัดโพธิ์ ไม่ว่าจะแดดร้อนจัด หรือฝนตกก็จะไม่หลบหนีไปไหน ค้างค้าวเหล่านี้มาอาศัยอยู่วัดโพธิ์มานานแล้วไม่มีผู้บันทึกไว้ชัดเจน แต่ในสมัยพระครูสุตาลงกตเป็นเจ้าอาวาส ระหว่าง ปี พ.ศ. ๒๔๗๔ ถึง พ.ศ. ๒๕๐๙ ซึ่งท่านเป็นพระที่เมตตาธรรมต่อสัตว์ทั้งหลาย วัดโพธิ์บางคล้ามีค้างค้าวนับแสนตัวมาอาศัย เกาะต้นไม้ในบริเวณวัด โดยไม่อพยพไปอยู่ไหน

วัดสาวชะโงก
        “วัดสาวชะโงก” นายนุช เป็นผู้สร้างขึ้น ตั้งแต่ปีวอก พ.ศ. ๒๓๘๖ โดยทุนของตนเอง แต่ความเจริญยังไม่เพียงพอ ครั้นต่อมาเมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๒ ขุนพัส (รั้ง) ได้ปฏิสังขรณ์ และสร้างพระอุโบส๔กับสำนักสงฆ์ขึ้นใน พ.ศ. ๒๓๓๒ นั้นเอง ในการปฏิสังขรณ์นี้ เป็นทุนของขุนพัส (รั้ง) บ้าง และทุนจากการเรี่ยไรบ้าง ในเวลานี้พระอธิการสังข์ เป็นเจ้าอาวาส แต่ไม่ปรากฏว่าอยู่กี่พรรษา ต่อมาพระอธิการขิก เป็นเจ้าอาวาส และได้ปฏิสังขรณ์มาเป็นลำดับ ต่อมาพระอธิการ คงชื่น ได้เป็นเจ้าอาวาส เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๖ พระอธิการเหลือ เป็นเจ้าอาวาส มีพระภิกษุจำพรรษาอยู่ ๓๘ รูป สามเณรไม่มี มีศิษย์วัด ๓๐ คน มีสำนักเรียนพระธรรมวินัย จำนวน ๑ สำนัก โดยความอุปการะของพระอธิการเหลือ พระภิกษุประสิทธิ์ วิรัตติโย (จ๋วง) เป็น ผู้สอน มีโรงเรียนประชาบาลประจำตำบลสาวชะโงก จำนวน ๑ โรงเรียน มีครูสอน จำนวน ๒ คน นักเรียน ชาย – หญิง จำนวน ๑๓๐ คน สอนตั้งแต่ชั้นประถม ๑ ถึงประถม ๕ (ดร.โกวิท วรพิพัฒน์ เคยเรียน) มี เทศกาลประจำปีปิดทองจำลองพระบาท ทุกๆปี ตั้งแต่วันขึ้น ๑๔ ค่ำ ถึงแรม ๑ ค่ำ เดือน ๔ รวม ๓ วัน ๓ คืน มีคนเข้าร่วมงานวันหนึ่งๆ ประมาณ ๑,๐๐๐ คน

        ใน สมัยสงครามอินโดจีน หลวงพ่อเหลือ ได้ทำผ้ายันต์ และ เสื้อยันต์แจกลูกศิษย์ไปหลายร้อยตัว ท่านดังพอๆกับหลวงพ่ออี๋ อำเภอสัตตาหีบ จังหวัดชลบุรี หลวงพ่อจาด วักบางกระเบา อำเภอบ้านสร้าง จังหวัดปราจีนบุรี

        หมู่ บ้านที่ตั้งวัดเดี๋ยวนี้นั้น มีเรื่องเล่าว่า มีลูกสาวชาวบ้านบ้านหนึ่ง และมีหนุ่มจากแดนไกล เข้าใจว่าเป็นหนุ่มบ้านสร้าง หรือปราจีนบุรี มาสู่ขอลูกสาวที่ชุมชนตลาดบ้านหมู่ และตกลงแต่งงานกัน เจ้าบ่าวใช้เรือแจวออกจากบ้านแต่เช้า ตกบ่ายขนมก็บูดจึงมีย่านขนมบูดขึ้น และมาถึงวัดสามร่มแดดร้อน ก็ปักร่มไว้ ๓ คัน เพื่อนั่งรับประทานอาหารกัน จึงเกิดเป็นชื่อวัดสามร่มขึ้น ครั้นตำบลที่บ้านเจ้าสาวอยู่ เจ้าบ่าวกับพวกก็จอดเรือนำขันหมากขึ้นบ้านเจ้าสาว ซึ่งเป็นบ้านเรือนสูงใต้ถุนโล่ง เจ้าสาวซึ่งอยู่บนเรือนสูงก็ชะโงก ที่หน้าต่างออกมาชะเง้อมองดูเจ้าบ่าว เผอิญชะโงกมากเกินไป จึงพลาดพลัดตกลงมาถึงแก่ความตาย ชาวบ้านจึงขนานนามว่า “สาวชะโงก” เป็นชื่อประจำหมู่บ้านไป และได้กล่าวมาแล้วว่า ผู้สร้างวัดสาวชะโงก “ชื่อนายนุช” ได้จัดสร้างขึ้นเพื่อชุมชนจะได้เป็นที่พบปะกัน วัดนี้เจริญรุ่งเรืองในสมัยหลวงพ่อเหลือเป็นเจ้าอาวาส และท่านมีปลัดขิกดังมาก ประชาชนและลูกศิษย์เคารพนับถือกันมากถือว่าเป็นของขลัง มีพกติดตัวไว้ป้องกันภัยอันตรายได้ และทำให้เจ้านายเอ็นดูเมตตา

        ต่อ มาชาวจีนได้สร้างศาลเจ้าอาม้าขึ้น ที่ตลาดบ้านหมู่ ประมาณ ๑๐๐ กว่าปีมาแล้ว ต้องซ่อมแซมอยู่เสมอ เจ้าอาม้าองค์นี้เข้าใจว่าเป็นลูกสาวที่วัดสาวชะโงก มีความศักดิ์สิทธิ์เป้ฯที่เคารพนับถือของบุคคลทั่วไป ทั้งในท้องถิ่นและต่างถิ่นมาก เมื่อมีเหตุการณ์เกิดไฟไหม้ ก็ทำให้ไฟดับได้ทุกครั้ง ไม่ลุกลามไปเหมือนกับไฟไหม้ที่อื่นๆ ท่านสามารถดับได้ทุกครั้ง ท่านไม่ได้ดับเอง แต่ท่านปลุกคนใกล้เคียงมาดับ เป็นที่ทราบกันดีในหมู่ชาวบ้าน สมัยก่อนไม่มีประกันอัคคีภัยไม่มีไฟฟ้าใช้ จึงไม่มีไฟฟ้าช็อต…ปลอดภัยจากเหตุเพลิงไฟไหม้

แม่น้ำบางปะกง

        แม่น้ำบางปะกงเป็นแม่น้ำสายหลัก ของภาคตะวันออก ซึ่งมีแหล่งกำเนิดมาจากเขาใหญ่ เกิดจากการรวมตัวของแม่น้ำสาขา ๒ สาย คือ แม่น้ำนครนายก และแม่น้ำปราจีนบุรี ลำน้ำไหลทอดตัวลงทิศใต้ ผ่านมารวมกันบริเวณแนวเขตติดต่อระหว่าง ๓ จังหวัด ได้แก่ จังหวัดปราจีนบุรี จังหวัดนครนายกและจังหวัดฉะเชิงเทรา รวมระยะทาง ๒๓๐ กิโลเมตร ความลึกตั้งแต่ ๙ – ๑๘ เมตร ส่วนที่ลึกที่สุด คือ บริเวณหน้าวัดโสธรวรารามวรวิหาร ลึก ๑๘ เมตร ความกว้างประมาณ ๒๐๐ เมตร ไหลลงอ่าวไทยที่อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา แม่น้ำบางปะกง เป็นแม่น้ำ ๒ น้ำ คือ เป็นน้ำจืดและน้ำกร่อย ในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงเดือนมกราคมมีสภาพเป็นน้ำจืด เป็นแหล่งน้ำดิบเพื่อการปะปาส่วนภูมิภาคให้แก่เทศบาลและสุขาภิบาล ๙ แห่งทั้งเทศบาลเมือง และเทศบาลบางคล้าระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนมิถุนายน สภาพน้ำเปลี่ยนเป็นน้ำกร่อย เนื่องจากมีน้ำทะเลหนุนเข้ามาในแม่น้ำ เมื่อเกิดภาวะฝนแล้ง ทำให้น้ำเค็มไปถึงต้นแม่น้ำที่อำเภอบ้านสร้าง จังหวัดปราจีนบุรี แม่น้ำบางปะกงเป็นเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงชีวิตชาวบ้านที่อยู่ริมฝั่งแม่ น้ำ เป็นแหล่งน้ำการเกษตรกรรมสำหรับพื้นที่ปลูกข้าว สวนมะม่วง สวนมะพร้าว ในเขตอำเภอบางคล้าซึ่งเป็นพื้นที่เกษตรกรรมที่สำคัญที่สร้างรายได้เพื่อ พัฒนาเศรษฐกิจ ยังใช้เป็นแหล่งน้ำเพื่อการปศุสัตว์ การเลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ การประมง ประเภทเลี้ยงกุ้ง เลี้ยงปลา อีกทั้งเป็นแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภค และบริโภคของประชาชนที่สำคัญ ตลอดสองฝั่งแม่น้ำบางปะกง เป็นสายน้ำที่ยังความงดงามน่าดูด้วยวัดวาอารามต่างๆ ดังเช่น วัดโพธิ์ที่มีค้างคาวแม่ไก่อาศัยอยู่ เรือนแพทรงไทย เรือนร้านค้า บ้านตลาด ท้องน้ำเล็กๆ แบบเก่า และทิวทัศน์ของป่าจากเขียวขจี เป็นกองหนาทึบราบเรียงสลับกับต้นลำพูบนเกาะลัด เป็นแนวขนานกับฝั่งน้ำ ยามกลางคืนเดือนหงาย น้ำขึ้นเต็มฝั่ง จะได้เห็นเรือหลอกล่องตามแม่น้ำบางปะกง เพื่อหาปลาซึ่งเป็นภูมิปัญญาของชาวบ้าน ที่จะทำให้ปลาเห็นสีขาวที่ทากระดานต่อออกไปออกข้างลำเรือ และตกใจกระโดดขึ้นมาบนการดานสีขาว และหล่นลงไปในเรือ ชาวบ้านก็ได้ปลากลับบ้านเกือบเต็มลำเรือ เป็นวิธีหาปลาที่ง่ายที่สุด อุปกรณ์ก็น้อย ไม่ทำลายสภาพแวดล้อม และเป็นการอนุรักษ์สัตว์น้ำให้มีบริโภคไปได้นานๆ ชั่วลูกชั่วหลาน

        วิถี ชีวิตของชาวบางคล้าในสมัยก่อนค่อนข้างยากลำบากตามสภาพท้องถิ่น ไม่มีไฟฟ้า และน้ำประปา มีแม่น้ำบางปะกงเป็นน้ำหล่อเลี้ยงชีวิต ใช้ดื่ม ใช้อาบ ซักล้าง สารพัดประโยชน์ เป็นสถานที่เล่นสนุก จนกระทั่งถึงแหล่งอาหารเลี้ยงผู้คน นอกจากนี้ราษฎรใช้แม่น้ำบางปะกง เป็นเส้นทางคมนาคมสายสำคัญ เพราะชุมชนจะอยู่ตามริมน้ำ การเดินทางขนถ่ายสินค้าทางเรือสะดวกกว่าใช้พาหนะอื่นๆ


ชาวบางคล้าแต่เดิมมา

สามารถจัดแบ่งเป็นกลุ่มๆ ได้ดังนี้

กลุ่มชาวเรือ
        เรือกระ แชงขนาดใหญ่ โดยทั่วไปเจ้าของจะมีบ้านอาศัยพักอยู่ริมน้ำ จอดเรือไว้หน้าบ้านเมื่อจะเดินทางไปค้าขายก็จะขนสัมภาระลงเรือหุงหาอาหารและ หลับนอนในเรือ เมื่อกลับบ้านก็จะใช้ชีวิตบนบ้าน แต่ชาวเรือนั้นเป็นผู้ที่ไม่มีบ้าน อาศัยกินอยู่หรือนอนบนเรือหรือบางครั้งก็ถึงกับคลอดลูกบนเรือด้วย และจะใช้เรือเป็นที่ทำมาหากิน อาจจะนำสินค้าจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง เช่น เกลือ ถ่านหุงข้าว หม้อดิน ตุ่มน้ำ จากมุ่งหลังคา มะม่วง มะพร้าว สับปะรด เป็นต้น และชาวเรือเหล่านี้มีจำนวนไม่น้อย แต่ปัจจุบันจะมีชาวบ้านอาศัยอยู่บนบกหมดแล้ว

        ชีวิตของชาวเรือเป็นชีวิตที่ลำบากเพราะพื้นที่แคบ ถ้าบรรทุกสินค้าเต็มลำจะอาศัยได้เฉพาะหัวเรือและท้ายเรือ

        ชาว เรือบางครอบครัวมีลูก ๗ – ๘ คนอยู่ในเรือ สาเหตุการตายของเด็กเหล่านี้คือ ตกน้ำตาย เพราะเด็กเล็กๆ ยังว่ายน้ำไม่เป็น เวลาหุงหาอาหารชาวเรือต้องใช้ถ่านซึ่งซื้อจากชาวเรือด้วยกัน คนขายถ่านที่ขายให้ชาวเรือจะเลือกถ่านอย่างดีให้เป็นถ่านที่ติดไฟแล้วไม่แตก เมื่อเวลาติดไฟแล้วตกสะเก็ดไฟจะระเบิดออกทุกทิศทาง พื้นที่ในเรือแคบอยู่แล้วคนก็จะหลบไม่ทัน ชาวเรือที่ขายถ่านเขาจึงเห็นใจชาวเรือด้วยกัน คัดเลือกถ่านที่ไม่แตกเป็นสะเก็ดไฟให้ ความลำบากของชาวเรืออีกอย่างหนึ่งคือตอนถ่ายอุจจาระในตอนกลางวัน แล้วหาที่หลบคนไม่ได้ต้องใช้แผงที่เป็นไม้ไผ่สาน ๒ แผ่น ตรงกลางติดกันนำมากั้นที่แคมเรือและผูกเชือกติดไว้กับเรือตัวคนเข้าไปนั่ง ถ่ายหนักข้างในโดยไม่มีคนเห็นกรรมวิธีนี้ต้องใช้เวลา ซึ่งบางครั้งก็อาจไม่ทันการ ชาวเรือนอกจากลำบากในการกินอยู่หลับนอนและโต้ลมแล้ว ส่วนดีก็มีอยู่คือฐานะการเงินไม่ค่อยเดือดร้อนเพราะเป็นคนค้าขาย ต่อมาจึงสามารถซื้อที่ปลูกบ้าน ทำมาค้าขายบนบกได้ทุกราย

        การ คมนาคมของคนบางคล้าจากการใช้เรือพาย เรือแจวมาเป็นใช้เรือเมล์ซึ่งเป็นเรือโดยสารขนาดใหญ่ มีท่าเทียบเรือสำหรับผู้โดยสาร ๓ ท่า ด้านทิศเหนือ ติดกับโรงยาฝิ่น เป็นท่าเรือเขียว เพราะเรือทาสีเขียวทั้งลำวิ่งจากพนมสารคาม แวะบางคล้าประมาณ ๑ ชั่วโมง แล้ววิ่งต่อไปยังฉะเชิงเทรา เพื่อส่งโดยสารขึ้นรถไฟไปกรุงเทพฯ สถานีรถไฟเก่าอยู่แถวหลังตลาดบ่อบัว ห่างจากท่าเรือไม่มากนัก พอจะเดิน หรือนั่งสามล้อถีบไปก็ได้ ส่วนสามล้อเครื่อง ยังไม่มี ท่าเรือกลางตรงตลาดเป็นท่าเรือแดง เพราะเรือทาสีแดงทั้งลำ เป็นเรือขนาดใหญ่ มี ๒ ชั้น และมีหลายลำ บางลำมีปล่องสำหรับระบายควันถึง ๒ ปล่อง วิ่งจากปราจีนบุรีรับคน ๒ ฝั่ง มาแวะที่ตลาดบางคล้าประมาณ ๑ – ๒ ชั่วโมง  จึงเดินทางต่อไปยังฉะเชิงเทราเพื่อส่งคนขึ้นรถไฟไปกรุงเทพฯ เช่นเดียวกัน

ท่า เรือด้านทิศใต้ซึ่งอยู่แถวร้านรูปจำลองลักษณ์ในปัจจุบันเป็นท่าเรือขาว เพราะเรือทาสีขาวทั้งลำ เรือแดง เรือเขียว เป็นเรือที่ต่อขึ้นมาเพื่อใช้เป็นเรือโดยสารโดยตรง แต่เรือขาวจะนำเอาเรือกระแชงขนาดกลางมาต่อเก๋งหลังคา ติดเครื่องเผาหัวแล้วใช้รับส่งผู้โดยสารระยะทางใกล้ๆ ๒ ฝั่งแม่น้ำ ในระยะ ๔๐ กว่าปีก่อนหน้านี้ ทางรถยนต์จากบางคล้าไปฉะเชิงเทราไม่มี จะมีแต่ทางเกวียนและทางเดินเท้า ประชาชนที่อยู่สองฝั่งแม่น้ำบางปะกงตั้งแต่ปราจีนบุรี พนมสารคาม จะเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ต้องเตรียมการใหญ่เพราะต้องไปหลายวันและต้องมีบ้านญาติสำหรับพักอาศัยด้วย สิ่งที่ต้องเตรียมคือ ของฝากญาติซึ่งเป็นผลหมากรากไม้ต่างๆ เช่น มะม่วง มะปราง หรือลูกตาล และภาชนะที่จะใช้ก็คือชะลอม และการเดินทางเข้ากรุงเทพฯ จึงความหมายมากกว่าเดินทางไปต่างประเทศในปัจจุบัน เมื่อเดินทางกลับมาแล้วจึงมีเรื่องคุยให้คนที่ยังไม่เคยไปได้ฟัง บางคนขู่คนที่ยังไม่เคยไปว่า ถ้าไปกรุงเทพฯ ระวังเดินเหยียบอ่างกะปิเขาแตก เพราะคนเข้ากรุงเทพฯ ครั้งแรกจะเดินดูบ้านเมือง แสงสี จนลืมดูทางเดินอาจจะเดินชนหรือเหยียบสินค้าที่เขาวางไว้ข้างถนนได้
        ดัง นั้นในสมัย ๔๐ กว่าปีก่อนหน้านี้ เมืองบางคล้าจึงเป็นเมืองผ่าน มีความเจริญรุ่งเรืองมากกว่าที่อื่น ท่าเรือทั้ง ๓ ท่าที่กล่าวมาแล้วมีผู้คนคึกคัก ข้าวปลาอาหารขายได้ดี โดยเหตุที่การคมนาคมไม่สุดวกและเขตอำเภอบางคล้ากินพื้นที่อำเภอแปลงยาวและ กิ่งอำเภอคลองเขื่อนในปัจจุบันทั้งหมด เมื่อมีการคัดเลือกทหาร (ไล่ทหาร) ประจำปี คนที่คัดเลือกและญาติพี่น้องจะต้องมาพักอาศัยตามบ้านญาติ หรือวัดในเขตเทศบาล และคัดเลือกทหารที่ศาลาวัดแจ้งเป็นเวลา ๒ วัน ผู้คนมีจำนวนมากมายตั้งแต่เช้าถึงกลางคืน การค้าขายโดยเฉพาะข้าวแกง ก๋วยเตี๋ยว ชาวตลาดที่ไม่เคยขายก็จะทำขายกันเป็นพิเศษในวันนี้ และขายได้ดีด้วย
        ต่อ มามีการตัดถนนสร้างเป็นถนนลูกรัง ปรับปรุงเป็นถนนราดยาง ๒ เลน จนกระทั่งเป็น ๔ เลน และสร้างสะพานข้ามแม่น้ำบางปะกงเพิ่มขึ้นหลายสะพาน การคมนาคมทางน้ำจึงหมดความหมายตัวอำเภอบางคล้าแต่ก่อนเป็นทางผ่าน ปัจจุบันจึงกลายเป็นเมืองปิดความคึกคักของผู้คนที่เคยมีเหนืออำเภออื่นๆ จึงเปลี่ยนไป ปัจจุบันจึงสู้เขาไม่ได้

เรือจ้าง  เป็นเรือขนาดเล็ก มีหลังคากันแดดกันฝน  มีคนแจวเรืออยู่ทางด้ายท้าย ๑ คน ส่วนใหญ่จะใช้สองแจว โดยใช้มือซ้ายและมือขวาทำหน้าที่แจว มีหางเสือหรืออาจจะไม่มีก็ได้ ถ้ามีหางเสือ ก็ใช้เท่าทำหน้าที่คัดหางเสือ จะรับจ้างส่งคนและสัมภาระติดตัวไปยังจดต่าง ๆ เหมือนรถแท็กซี่ในปัจจุบัน ข้าราชการอำเภอที่มีหมู่บ้านอยู่ริมน้ำไม่ห่างจากอำเภอมากนัก มักจะใช้บริการเป็นเจ้าประจำหรือรังส่งข้ามฝั่งไปยังบ้านเรือนของตน

เรือพาย  เป็นเรือขนาดเล็ก  บางชนิดนั่งได้แค่คนเดียวตรงกลางลำ และมีพายอันเดียวแต่พายได้ ๒ ด้าม คนพายต้องมีความชำนาญ และต้องใช้พายแตะน้ำประคองตัวอยู่ตลอดเวลา เรือจึงจะไม่ล่ม เช่น เรือบด หรือเรือสำหรับพระบิณฑบาต

เรือ พายที่มีขนาดใหญ่ขึ้นอีกหน่วย เช่น เรือเป็ด เรือมาด เรืออีโปง เป็นต้น สามารถบรรทุกคนได้หลายคน หรือจะบรรทุกพืชผลทางการเกษตรไปจำหน่ายตามที่ต่าง ๆ ได้ไม่มากนัก ผู้พายจะมีคนเดียว นั่งท้ายเรือ หรือมีคนช่วยพายอีกคนหรือ ๒ คน นั่งทางหัวเรือได้ด้วย คนท้ายเรือมีหน้าที่ใช้พายคัดท้ายให้หัวเรือตรงด้วย เพราะเรือประเภทนี้จะไม่มีหางเสือ

เรือแจว  เรือแจงเป็นเรือขนาดใหญ่บรรทุกผู้คนและพืชผลทางการเกษตรได้จำนวนมาก เช่น เรือมาด เป็นเรือขนาดใหญ่ที่มีรูปร่างเพรียวคล่องตัวแจวได้ทั้งหัวและท้าย มีหางเสือในการบังคับเรือให้ตรง ผู้แจวทางด้านท้ายเรือจะใช้เท้าคัดท้ายเรือ ส่วนใหญ่ไม่มีกระแชงเรือ (หลังคา) แต่บางลำอาจมีก็ได้

เรือกระแชง  หมายถึง ที่มีหลังคา เป็นเรือขนาดใหญ่ใช้บรรทุกสินค้าได้มากรวมถึงใช้เป็นที่อยู่อาศัยได้ด้วย ขับเคลื่อนโดยใช้แจว หรือถ่อ ด้านหัวเรือ จะมี ๒ แจง ใช้ ๒ คน ด้านท้ายเรือจะมี ๑ แจว มีหางเสือ ๑ คน หรือคนแจวท้ายใช้เท้าคัดหางเสือด้วยก็ได้ แต่ทำได้ลำบากมากกว่า เพราะหางเสือมีขนาดใหญ่

เรือฉลอม เป็นเรือคล้ายเรือเดินทะเล รูปร่างเพรียว แหวกน้ำได้ดี ใช้บรรทุกสินค้าจากทะเลาเข้ามาจำหน่วย เช่น เกลือน้ำปลา ขับเคลื่อนโดยใช้หางเสือเป็นส่วนใหญ่ และใช้แจวหรือถ่อเป็นส่วนเสริมก็ได้ หางเสือมีลักษณะแปลงที่ใช้เชือกผูกติดไว้ เมื่อไม่ใช้ก็ยกขึ้น ไม่เหมือนเรือชนิดอื่นที่หางเสือติดอยู่กับเรือตลอดเวลา

        เรือ แจวและเรือฉลอมเหล่านี้ ต่อมามีเรือยนต์เผาหัวขนาดใหญ่มารับจ้างพ่วงเรือ ที่เรียกว่าเรือพ่วงหรือเรือโยง สามารถลาดได้ครั้งละ ๒๐ – ๓๐ ลำ ทำให้สะดวกมากยิ่งขึ้นในการเดินทาง เช่น ปราจีนบุรีผ่านบางคล้า ไปฉะเชิงเทราหรือบางปะกง เป็นต้น เรืองโยงจะวิ่งตลอดเวลาโดยไม่หยุด เรือลำอื่นที่อยู่นอกขบวนจะเข้าไปโงด้วยต้องแจวเข้าไปหาขบวนเรือและตรียม เชิกสำหรับโยนให้ผู้ที่อยู่บนเรือลำสุดท้ายถ้าเห็นเรือลำอื่นเร่เข้ามาหา เพื่อเข้าขบวนเรือพ่วงด้วยต้องตั้งท่าเตรียมรับเชือก เมื่อรับได้แล้วต้องรีบพันกับหูกระต่ายเรือของตนเอง และใช้หางเชือกคล้องตะกรุดเบ็ดกับหลักแจวโดยเร็ว เรือลำแรกที่ต่อจากเรือโยงจะเป็นเรือกระแชงขนาดใหญ่ และใช้เชือกเส้นใหญ่เป็นพิเศษที่เรือโยงเตรียมไว้ให้ โยงเว้นระยะประมาณ ๑๕ – ๒๐ เมตร ส่วนลำต่อ ๆ  มาจะโยงเรือชิดกัน สามารถก้าวข้ามไปมาได้  คนเก็บเงินของเรือโยงที่มีความชำนาญ  จะเดินบนเชือกเส้นใหญ่จากเรือโยงมายังเรือลำอื่น ๆ ในขณะที่เชือกตึง และเดือนเก็บเงินจากเรืองทุกลำ การเดินทางต้องใช้เวลานาน  เพราะเรือไปได้ไม่เร็วนัก แต่ดีกว่าแจวไปเองมาก เรือโยงจะมีวันละ ๑ เที่ยว กำหนดเวลาค่อนข้างใกล้เคียงกัน คนจะโยงเรือจึงต้องทราบกำหนดเวลาระรอคอย

        ต่อ มามีเครื่องหางซึ่งสามารถติดตั้งท้ายเรือแจวได้ทุกชนิด ซึ่งสามารถเกินทางได้สะดวก รวดเร็วและไม่ต้องรอคอย เรือโยงจึงขาดความนิยมและเลิกกิจการไปในที่สุด

เรือผีหลอก เมื่อราว ๔๐ ปีที่ผ่านมา ชาวบ้านริมน้ำบางปะกงอันอุดมสมบูรณ์ มักจะได้เห็นการจับผลาด้วยเรือชนิดหนึ่ง เรียกเป็นภาษีจีนว่า “เรือเช้าแป๊ะ” ส่วนคนไทยเรียกว่า “เรือผีหลอก”
“เรือผีหลอก” ส่วนใหญ่ประกอบขึ้นจากไม้ มีรูปร่างเพรียวกว้างประมาณ ๕๐ – ๖๐ เซนติเมตร ยาวประมาณ ๔ วา ๒ ศอก (ประมาณ ๙ เมตร) หัว เรือเล็กท้องเรือแบนราบ จึงแล่นน้ำตื้นไดสะดวกและคล่องตัวในการแจวหรือพายทวนน้ำ พื้นตอนท้ายเรือใช้ไม่กรุปิดและเปิดได้ ๑ เมตร สำหรับให้คนยืนแจวหรือพายเรือ ภายในมีที่ว่างสำหรับขังปลาขนาดใหญ่ที่จับได้ ตลอดลำเรือมีกรงขึ้นห่างเป็นช่วง ๆ ท้องเรือปล่องล่งไม่มีไม้ปิดแต่ใช้ทางมะพร้าวตัดหลายใบเล็กน้อยกันมิให้ปลา ที่กระโดยเข้ามาหนีออกไปได้

สาเหตุ ที่เรียกชื่อว่า “เรือผีหลอก” ก็เพราะด้านข้างลำเรือ มีกระดานสีขาว หรือสังกะสีแผ่นสีเหลี่ยมผูกติดไว้กับแคมเรือ มีความสูงเรี่ย ๆ น้ำ เมื่อแล่นผ่ายสายน้ำ ก็จะสะท้อนเป็นมันเงาวาวมันโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลากลางคืน ทำให้ปลาที่หากินอยู่บนผิวน้ำตกใจกระโดยลอยสูงและตกลงมาบนแผงไม้ เลยเข้าสู่ท้องเรือกันเป็นแถว

ชาว ประมงมักนำเรือชนิดนี้ออกไปหาปล่าในช่างเดือนตุลาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ เพราะเป็นฤดูที่มีน้ำอุดมสมบูรณ์ ปลาก็ชุกชิมมากและมีขนาดใหญ่ ปลาที่เข้าเรือผีหลอก ส่วนใหญ่จะเป็นปลาที่หากินน้ำตื้น ทั้งปลาตะเพียนขาว ปลาตะเพียนแดง ปลาซิว ปลาฉลาด ปลาเนื้ออ่อน ปลากระพง เป็นต้น เวลาที่เหมาะสมในการใช้เรือผีหลอกออกจับปลาคือเวลากลางคืน ตั้งแต่สามทุ่มไปจนรุ่งสาง ฉะนั้นเมื่อฟ้าสว่างในตนเช้า ผู้ที่มีบ้านเรือนริมน้ำจะได้เห็นเรือผีหลอกพายกลับพร้อม ๆ กันหลายลำ

การจับ ผลาด้วยเรือฝีหลอก แสดงวิถีชีวิตเรียบง่ายของชาวบ้านบางคล้าได้เป็นอย่างดี น่าเสียดายที่เรือชนิดนี้ลดความนิยมลงมากแต่อาจจะยังพอหาดูได้บ้าง

อาชีพที่เกิดจากแม่น้ำบางปะกงที่ไหลผ่าน

การ ประมง คำกล่าวที่ว่า “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” นั้นสำหรับที่บางคล้าในน้ำมีกุ้งมากกว่ามีปลา เนื่องจากอาชีพที่พบ คือ เรือผีหลอกหาปลาโพงพางดักปลา หลุมโจนก็ดักปลา แต่การล่อกุ้ง ตกกุ้ง สุ่มกุ้ง หรือ ปัจจุบันที่พบเป็นการเลี้ยงกุ้ง (กุลาดำ) นั้นมีมากกว่า โดยเฉพาะอาหารชนิดหนึ่ง ซึ่งได้จากกุ้ง คือ “ข้าวเหนียวหน้ากุ้ง” (แท้ ๆ) หารับประทานได้ยากมาก เมื่อสมัยก่อนเป็น “ของพิเศษ” ของ บางคล้าทีเดียว เนื่องจากุ้งที่ได้จากแม่น้ำบางปะกงเป็นกุ้งนางตัวใหญ่มี รสชาติอร่อยมีทั้งมันและไข่ เมื่อนำมาทำหน้ากุ้งจะออกสีสวยงาม โดยไม่ต้องใส่สีผสมอาหาร สำหรับปัจจุบันกุ้งแม่น้ำมีราคาแพงมาก อาชีพทำขนมข้าวเหนียวหน้ากุ้งจึงใช้กุ้งจากวัสดุประกอบอาหารอื่นแทน

ขนมจาก ตับจาก ใบมวนยาสูบ (ยาเส้น) และอื่น ๆ อันเกิดจาก “จาก” ริม ฝั่งแม่น้ำบางปะกง และริมคลองต่าง ๆ มีต้นจาก ซึ่งเป็นไม้จำพวกปาล์มชนิดหนึ่ง ขึ้นเฉพาะในดินเลนน้ำเค็มเท่านั้น ใบจากสามารถนำมาเย็บเป็นตับจากใช้มุงหลังคาบ้านเรือนได้ ผู้ค้นจึงมีอาชีพนี้มากเมื่อสมัยก่อน เนื่องจากยังไม่มีสังกะสี หรือกระเบื้องมุงหลังคารวมทั้งทำเป็นฝาบ้านได้ด้วย ใบจากสดนำมาห่อขนมจาก ซึ่งเป็นขนมที่อร่อย และมีคนนิยมทำเป็นอาชีพเลี้ยงตัวเป็นเศรษฐีได้ ปัจจุบันหาคนเย็บจากเป็นได้ยากมาก เนื่องจากความนิยมใช้วัสดุอื่นแทนใบจากมุงหลังคา และทำฝาบ้านลดลงไปจากเกือบไม่เหลือ

การ ทำจุกขวดจากรากลำพู  เป็นอาชีพที่ได้จากธรรมชาติริมน้ำ ในสมัยก่อนยังไม่มีจุกพลาสติด ขวดน้ำปลา และขวดบรรจุน้ำต่าง ๆ ต้องใช้จุกลำพู โดยใช้รากของต้นลำพู ซึ่งมีลักษณะเนื้อไม้คล้ายจุกคอร์กของต่างประเทศ นำมาหั่นเป็นท่อนสั้น ๆ เหมือนอ้อยขวั้น แล้สนำไปไสเอาเปลือกออก ไส้มีรูเล็ก ๆ อยู่ตรงกลาง จะทำให้น้ำรั่วออกจากจุกได้ ต้องใช้ก้านมะพร้าวหั่นเป็นไม้กลัดตอดรูให้ตันเพื่อไม่ให้น้ำหก งานตอกจุดลำพูนี้ เป็นงานที่เด็ก ๆ ก็สามารถทำได้โดยใช้เวลาว่าง และมีเงินตอบแทนค่าเหนื่อยตามสมควร ในสมัยก่อนเด็ก ๆ หลายบ้านอยู่ในวัยเรืยนจะใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์โดยการไปรับหน่อลำพูจาก บ้ายที่ไสจุก คือ บ้านยานภิรมย์  วิศิษฎ์สิน มาตอกอุดรูและได้เงินเป็นลำไพ่กันคนละไม้น้อยแลย

กลุ่มชาวริมน้ำ

        ผู้ คนทุกยุคทุสมัย ถ้ามีที่ดินอยู่ริมน้ำก็มักจะปลูกบ้านอยู่ใกล้ ๆ น้ำ สองฝั่งแม่น้ำบางปะกงจึงมีคนปลูกบ้านอยู่โดยทั่วไป ยิ่งสมัยก่อนต้องใช้เรือสัญจรไปมา ยิ่งทำให้สะดวกในการเดินทางและขนส่งมากยิ่งขึ้น ชาวริมน้ำจะเป็นชาวบ้านที่มีความสะดวกสบายรองจากชาวตลาดเพราะมีสินค้าหลาย อย่างมาเสนอขายหน้าบ้าน เช่น เรือขายหมูชำหละ เรือขายหอยแมลงภู่ เรือขายกาแฟ ก๋วยเตี๋ยว ขนมหวาน ฯลฯ เรือเหล่านี้ขณะที่พายผ่านไปมาเขาจะส่งเสียงหรือบีบแตรเพื่อให้ลูกค้าที่ อยู่บนบ้านได้ยิน ใครต้องการซื้อสินค้าก็จะมารอที่สะพานหน้าบ้าน เวลาจะทำบุญใส่บาตรก็นำอาหารคาวหวานมารอที่ท่าน้ำหน้าบ้าน พระก็จะพายเรือมารับบาตร ทำให้สะดวกสบายไปทุกอย่าง

      อาชีพของชาวริมน้ำในอำเภอบางคล้าโดยทั่วไป คือ ทำสวน ทำการประมง โดยจับสัตว์น้ำในแม่น้ำบางปะกง ซึ่งมีชุกชุมกว่าในปัจจุบัน วิธีจับสัตว์น้ำก็โดยการทำโพงพาง ล้อมซั้ง พายเรือผีหลอก ตักกุ้ง ตกกุ้ง ตกปลา เป็นต้น ชาวริมน้ำบางครอบครัวก็อาจจะมีเรือนำสินค้าไปจำหน่ายยังต่างถิ่นเมื่อขาย สินค้าหมดแล้วก็นำเรือกลับมาจอดหน้าบ้าน ฐานะของชาวริน้ำจึงค่อนข้างดี ไม่เดือดร้อนเช่นเดียวกับชาวตลาด

กลุ่มชาวสวน

        ชาว สวนส่วนหนึ่งเป็นชาวริมน้ำด้วย ถ้าอยู่ห่างริมน้ำก็มักจะมีคลองซอยที่เกิดเองตามธรรมชาติ หรือขุดขึ้นเองเป็นแนวร่องสวน ใช้ขนถ่ายสินค้ามายังแม่น้ำ แต่บางคลองจะไปมาก็ตอนน้ำขึ้น ถ้าน้ำลงเรือก็ผ่านไม่ได้ จึงไม่ได้รับความสะดวกสบายเท่าที่ควร
ชาว สวนส่วนใหญ่จะทำพื้นที่เป็นร่องเรียก ร่องสวน ริมพื้นที่สวนทั้งหมดจะยกคันดินสูงและมีต้นตาลทะลุกลางต้นไม้กลวงเป็นรู เหมือนท่อฝังดินไว้ทำเป็นทางระบายน้ำเข้าสวนได้ คันดินนี้ใช้ป้องกันน้ำท่วมได้ด้วย ทุกปีชาวสวนจะต้องโกยกินเลนจากในน้ำขึ้นมาเสริมร่องสวนและเสริมดินตามโคน ต้นไม้ยืนต้นที่ปลูกไว้ เช่น มะม่วง หมาก มะพร้าว ฯลฯ การยอร่องเขาจะถือแรงกัน คนยกร่อง ๑ ชุด จะมี ๕ – ๗ คน คนแรกจะทำหน้าที่ใช้มือขุดดินแล้วปั้นให้แน่น ส่งต่อขึ้นมานถึงคนสุดท้ายบนบก คนสุดท้ายจะใช้ดินเลนน้นโปะหรือยาไปตามร่องสวนหรือโคนต้นไม้ที่ปลูกไว้ การยกร่องสวนต้องใช้แรงมากเจ้าของบ้านจึงต้องจัดอาหารไว้เลี้ยงเป็นระยะถึง ๕มื้อ คือ เช้า กลางวัน เย็น และพักครึ่งอีก 2 มื้อ เวลาพักเขาเรียกว่า ขุ่ย อาจจะเป็นภาษาจีน แต่ช่วงพักครึ่งมีกจะเป็นข้าวต้มกับผักกาดเค็มหรือปลาเค็ม

        ต้นไม้ ต่าง ๆ ที่ชาวสวนปลูกนั้น รอบ ๆ สวนมีพื้นที่กว้างมักจะเป็นมะม่วงเป็นหลัก อย่างอื่นจะมีบ้างก็ไม่กี่ต้น เช่น ขนุน กระท้อน มะปราง ส้มโอ ฯลฯ ตรงกลางที่เป็นท้องร่องสวนริมร่องมักจะปลูกหมาก ตรงกลางร่องจะปลูกผักต่าง ๆ หรือพลู สับปะรด ในท้องร่องซึ่งเป็นน้ำชาวสวนจะปลูกข้าวไว้กิน และเลี้ยงปลาเลี้ยงกุ้งไว้ด้วย

        ชีวิต ชาวสวนต้องขยันขันแข็ง มีงานให้ทำทุกวันและมีผลผลิตออกขายทุกวัน การเงินจึงไม่เดือนร้อน และมีผลผลิตให้เก็บกินสำหรับเป็นอาหารในชีวิตประจำวันได้ เช่นเดียวกับนโยบายเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงในปัจจุบัน ถ้าชาวสวนขี้เกียจ สวนก็จะรกผลผลิตก็ไม่มีจะเก็บขาย ชาวสวนส่วนใหญ่ซึ่งมักเป็นคนจีนและมีฐานะดี

สวนมะม่วง บางคล้าปลูกมะม่วงมานานก่อนที่มะม่วงจะกลายเป็นพืชเศรษฐกิจของประเทศมะม่วง นานาพันธุ์จากบางคล้าล้วนมีรสชาติดีแตกต่างกันออกไปตามพันธุ์ ทั้งอาชีพทำสวนมะม่วงและอาชีพขยายพันธุ์มะม่วง โดยการทาบกิ่งขาย ล้วนเป็นอาชีพที่นำเงินเข้าอำเภอบางคล้าไม่น้อย

สวนมะพร้าว มะพร้าว มักปลูกบนคันถนนรอบสวนมะม่วง และสวนหมาก มีผลผลิตตลอดทั้งปี ปลูกมากที่ตำบลสาวชะโงกและตำบลบางสวน เป็นมะพร้าวน้ำหอมที่มีชื่อเสียงมาก มักมีผู้คนจากต่างถิ่นมาถามหาซื้อพันธุ์ไปปลูกอยู่เนื่องๆ

สวนหมาก พื้นที่เพาะปลูกที่ตำบลปากน้ำ ที่ปลูกหมากมากถึง ๑,๒๓๐ ไร่ คนมัยก่อนนิยมกินหมากกันมาก ทั้งหญิงและชาย ทุกวัย ทุกเพศ พลูจึงคู่กับหมาก และกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน มีคำสำนวนว่า “ข้าวยากหมากแพง” แสดงว่า “หมาก” สำคัญพอ ๆ กับ “ข้าว” และหมากพลูยังคงเป็นพืชเศรษฐกิจที่ทำรายได้ให้กับชาวบางคล้ามาก โดยเฉพาะหมากเป็นสินค้าส่งออกต่างประเทศเพื่อใช้ในวงการอุตสาหกรรมต่าง ๆ

กลุ่มชาวนา

        ใน อำเภอบางคล้าสมัยก่อนมีพื้นที่การทำนามากกว่าการเกษตรชนิดอื่น นาที่ทำก็มักเป็นนาที่ทำได้ฤดูเดียว ที่เรียกกันว่า “นาปี” ระยะการทำนาตั้งแต่ฝนเริ่มตกชาวนาก็เริ่มไถนา โดยเริ่มตั้งแต่

ไถดะ โดยไถเปิดหน้าดิน ใช้แรงงานวัวควายเป็นส่วนใหญ่ บางเจ้าอาจจะใช้วัวบ้างเป็นส่วนน้อย รถไถเดินตามซึ่งในปัจจุบันไม่มีการไถดะเปิดหน้าดินตากแดดให้หญ้าแห้งแล้วจึง ไถแปร

ไถแปร คือ ไถพาดแนวไถดะ เพื่อทำให้ดินละเอียด และรากหญ้าหลุดออกจากดิน

คราด คือ เครื่องมือที่ใช้วัว ควายลาก มีคันชักลากขี้หญ้า และทำให้ดินที่ไถแล้วร่วนซุย ตัวคราดจะทำเป็นซี่ ๆ สำหรับเกาะเกี่ยวหญ้า

เมื่อ คราดดินเตรียมดินได้ที่แล้ว ชาวนาก็ถอนกล้าที่หว่านไว้นำมาดำในนา การดำนาในสมัยก่อนจะมีการถือแรงกัน คนที่ใช้แรงหรือมาถือแรงจะเป็นผู้ดำนาเจ้าของนาจะมีหน้าที่ดูแลอาหารการกิน และเตรียมต้นกล้าไว้ให้คนที่ดำนาเก่ง ๆ จะดำนาได้เป็นแนวตรงและเร็วมาก ถ้าดำใกล้ ๆ กัน จะมีการแข่งขันกันในทีว่าใครจะเหนือว่าใครหรือบางครั้งจะมีการแข่งขันการดำ นาด้วย

เมื่อ ดำนาเสร็จเรียบร้อยแล้วงานก็จะน้อยลง เจ้าของนาจะมีหน้าที่ดูแลต้นข้าวให้น้ำพอเหมาะและปลูกซ่อมต้นข้าวที่ตายลง และถอนหญ้าหรือกำจัดปูนา กำจัดหอยโข่งที่มากัดกินต้นข้าว ระยะเวลา ๓ – ๔ เดือน ต้นข้าวก็จะสุกได้ที่ แล้วแต่ว่าเป็นข้าวหนักหรือข้าวเบา ข้าวหนักก็จะได้ผลช้า ข้าวเบาก็จะได้ผลเร็ว เมื่อถึงเวลาเก็บเกี่ยวก็จะมีการถือแรงลงแขกเช่นเดียวกัน ไม่มีการจ้างแรงงาน ทำให้เกิดความสามัคคีในหมู่ชาวนา หนุ่มสาวมีโอกาสได้พบปะกันด้วย เกี่ยวเสร็จก็นำไปกองไว้ในลานข้าวที่เป็นนา ถากหญ้าหรือถอนข้าวได้ ชี้ควายจะช่วยให้ไม่เมล็ดข้าวจมลงในดิน และไม่มีขี้ดินหลุดมาปนกับเมล็ดข้าว เมื่อรวบรวมข้าวได้ครบก็จะมีการนวดข้าว ส่วนใหญ่จะนวดกลางคืน ชาวนาข้างเคียงจะนำวัว ควาย มาถือแรง โดยการกองข้าวขนพื้นลานบาง ๆ แล้วผูกควายติดกันครั้งละหลาย ๆ ตัวแล้วแต่ความกว้างของลาน ไล่ควายให้เหยียบย่ำลงบนก้อยข้าวเป็นวงกลมแล้วใช้ตาขอหรือบางทีเรียกว่า คันฉาย พลิกข้าว ขึ้นให้ควายเดินเหยียบ ทำอย่างนี้หลาย ๆ ครั้งจนเม็ดข้าวหลุดออกจากรวงทั้งหมดแล้วจึงนำข้าวไปฝัดให้สะอาดเก็บไว้ใน ยุ้งฉางต่อไป

การเลี้ยงกุ้งกุลาดำ
        ด้วย ทำเลที่ตั้งของอำเภอบางคล้าที่อยู่สองฟากฝั่งลำน้ำบางปะกง ซึ่งเป็นแหล่งอาหารอันสมบูรณ์ แต่ครั้งโบราณกาล ชาวอำเภอบางคล้าจึงยึดการทำการเกษตรเป็นอาชีพหลัก โดยอาศัยธรรมชาติที่มีฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล และความอุดมสมบูรณ์ของผืนดินตามธรรมชาติ

        ภูมิประเทศ อันประกอบด้วยที่ราบลุ่มแม่น้ำบางปะกง ซึ่งใช้เพาะปลูกข้าว ปลูกพืช พรรณต่าง ๆ และเลี้ยงสัตว์ กิจกรรมสำคัญทางการเกษตรของชาวบางคล้าที่ควบคู่ไปกับการเลี้ยงสัตว์ก็คือ การทำการประมง ในระยะหลัง ๆ ชาวบางคล้าได้หันมาเลี้ยงกุ้งกุลาดำกันมากขึ้น โดยมีพื้นที่เลี้ยงทั้งสิ้น ๘,๑๔๒ ไร่ มีผู้เลี้ยง ๑,๒๕๗ ราย ได้ผลผลิตสูงถึง ๑๓,๐๒๗ ตัน และทำรายได้ให้อำเภอถึง ๘๒๐,๗๖๔,๐๐๐ ล้านบาทต่อปี

        ปัจจุบัน ฟาร์มเลี้ยงกุ้งกุลาดำให้ระบบปิด หรือรีไซเคิล มีบ่อบำบัดน้ำเสีย นำน้ำที่บำบัดแล้วกลับมาใช้ใหม่ได้อีก นับเป็นการเลี้ยงกุ้งแบบอนุรักษ์ เพื่อเอื้อโอกาสให้สามารถจัดการเลี้ยงกุ้งได้อย่างมีประสิทธิภาพสอดคล้องกับ สภาพเป็นจริงทางธรรมชาติ ให้เอื้ออำนวยต่อการฟื้นฟูควบคุม และรักษาสภาพแวดล้อมในสังคม อันจะเป็นการทำให้สามารถเลี้ยงกุ้งกุลาดำได้ต่อเนื่อง และยั่งยืนได้ตลอดไป เป็นการช่วยประเทศชาติให้มีเงินตราต่างประเทศหมุนเวียน และได้เปรียบดุบการค้าทางการเกษตรอีกโสตหนึ่งด้วย

กลุ่มชาวไร่

ชาว ไร่ในเขตพื้นที่อำเภอบางคล้าจะแตกต่างจากชาวสวนไม่มากนัก พื้นที่ไร่จะไม่ยกร่องหรือยกร่องก็ไม่สูงเหมือนชาวสวน พืชที่ปลูกก็จะไม่หลากหลายเหมือนชาวสวน เช่น ปลูกสับปะรด โดยมีมะม่วงแซมบ้าง หรือปลูกอย่างเดียว เช่น

ไร่ สับประรด ไร่ข้าวโพด ไร่มะม่วง เป็นต้น โดยเหตุที่ปลูกพืชไม่หลากหลายและมีผลผลิตเป็นฤดู รายได้ของชาวไร่จึงสู้ขาวสวนไม่ได้แต่งานที่ทำก็เบากว่ากัน มีเวลาพักผ่อนขณะที่รอเก็บเกี่ยว แต่รายได้ก็ไม่ดี ทัดเทียมกับชาวสวน เพราะไม่มีผลผลิตตลอดทั้งปีเหมือนชาวสวน

การทำไร่สับปะรด

สมัย ก่อนเราพบไร่สับประรดเขียวหม่นปนสีแสด ที่เรียกว่า “สับปะรดอินทรชิต” มีรสชาติหวานกรอบคล้ายสับปะรดภูเก็ต และสับปะรดนางแล ในเขตบางคล้าเช่นที่กกสับ ปากน้ำและหัวไทร ส่งขายทั้งในรูปของสับปะรดสด สับปะรดอบแห้ง และสับประรดกวนทุกชนิดต่างก็มีรสชาติดีไม่แพ้กัน แต่ปัจจุบันมีพืชเศรษฐกิจชนิดอื่น ทำรายได้ให้กับเกษตรกรมากกว่า ไร่สับปะรดจึงหายไปจากบางคล้า

กลุ่มชาวตลาด

      ในสมัยก่อนชาวตลาดเป็นประชากรชั้นหนึ่งของอำเภอจะประกอบอาชีพค้าขายเป็นส่วน ใหญ่ ฐานะจึงดำกว่าคนนอกเขตตลาด อาหารการกิจ การแต่งเนื้อแต่งตัวดีกว่า เพราะตลาดเป็นศูนย์รวมของการคมนาคมและสินค้าทุกชนิดที่มีในสมัยนั้น ชาวไร่ ชาวสวน ชาวนาที่อยู่ห่างไกลจะตัดผม จะซื้อสินค้าหรือจะกินก๋วยเตี๋ยวก็ต้องเดินหรือพายเรือมาที่ตลาด ถ้าอยู่บ้านก็ต้องประกอบอาหารกินเองทั้ง ๓ มื้อ หรือถ้าจะกินขนมหวานก็ต้องโม่แป้งเอง ขูดมะพร้าวเอง ฯลฯ จนครบกระบวนการจึงจะได้กินขนมแต่คนในตลาดสดซื้อหามากินได้โดยสะดวก วิถีชีวิตของคนตลาดในสมัยนั้นน่าอิจฉาเพราะมีความสะดวกสบายมากกว่าชาวอื่น ๆ มาก

การค้าขาย

      สมัยก่อนบางคล้ายังมีสภาพเป็นเมืองท่า ในชนบทมีการคมนาคมทางเดียว คือทางน้ำ มีเรือเมล์แดง เรือเมล์ขาว วิ่งตามลำน้ำบางปะกง จากอำเภอเมืองถึงอำเภอบางคล้าใช้เวลากว่า 3 ชั่วโมง มีเรือพ่วงนำสินค้าจากรุงเทพฯ จากแหล่งอื่น ๆ มาส่ง มีสินค้าหลาย ๆ อย่างที่ตลาดบางคล้า แล้วจึงนำมาจำหน่ายไปยังลูกค้าตามท้องถิ่นต่าง ๆ โดยทางเกวียน จักรยาน และหาบหาม ทางน้ำก็มีเรือพาย เรือแจว เรือกระแชง เรือเอี้ยมจุ๊น หรือเรือติดเครื่องยนต์ในเวลาต่อมา และเนื่องจากประชากรมีอาชีพทางการเกษตรเป็นหลัก จึงนำสินค้ามาจำหน่ายไปยังท้องถิ่นอื่นๆ  อีกด้วย พ่อค้าแม่ค้าส่วนใหญ่เป็นชาวจีน

        ตลาด บางคล้าในสมัยห้าสิบกว่าปีก่อน ลักษณะตลาดจะเป็นห้องแถวเก่า ๆ หลังคามุงจากบ้านไหนฐานะดีก็จะมุงสังกะสีบ้าง ถนนชายน้ำตั้งแต่สะพานวัดแจ้งจนถึงร้านจำลองลักษณ์ ในปัจจุบันถือถนนไพบูลย์วัฒนา เป็นถนนเศรษฐกิจเพราะเป็นท่าเทียบเรือด้วย ห้องแถวส่วนใหญ่จะเป็นห้องชั้นเดียวหลังคามุงจากถนนแคบกว่าในปัจจุบันและจะ มุงหลังคาคร่อมถนนด้วยจาก เดินซื้อสินค้าจึงไม่โดยแดดโดนฝน ถนนระเบียบกิจอนุสรณ์จากคลองท่าลาดไปถึงคลองท่าทองหลาง (ถนนที่ผ่านหน้าโรงเรียนเทศบาล 1 วัดแจ้ง) จะ เป็นเส้นทางที่เปลี่ยวไม่ค่อยมีผู้คนสัญจรไปมา ตอนเย็นจะมีหนุ่มสาวซ้อท้ายขี่จักรยาน กินลม ในสมัยนั้นหนุ่มคนไหนมีจักรยานขี่ จะจีบสาวได้เปรียบคนอื่น เพราะทั้งบางคล้ามีจักรยานสปอร์ยี่ห้อราเล่ ตะเกียบคู่ก็เหมือนมีรถเบ๊นซ์สปอร์ตในปัจจุบัน

        เมื่อประมาณ ปี พ.ศ. ๒๔๙๑ ตลาดที่กล่าวถึงมานี้ได้เกิดไฟไหม้ครั้งใหญ่ สมันนั้นมีนายกเทศมนตรีคือ นายปรีดา เจียมเจริญ เทศบางมีเรือดับเพลองอยู่ ๑ ลำ ก็ใช้การไม่ได้ ไฟจึงไหม้เป็นวงกว้าง บ้านบางหลังอยู่โดยเดี่ยวห่างจากตลาด ลูกไฟก็ไปตกทำให้ไฟไหม้ไปด้วย แต่เป็นที่น่าอัศจรรย์ที่ศาลเจ้าหลักเมืองอยู่ใกล้ตลาดบริเวณรอบๆ ถูกไฟไหม้หมด แต่ศาลเจ้ายังอยู่

        หลัง ไฟไหม้ได้มีการก่อสร้างตลาดขึ้นมาใหม่ คราวนี้ถนนกว้างกว่าเดิมอาคารสร้างเป็น ๒ ชั้น หลังคามุงสังกะสี ฝาไม้อยู่ได้ประมาณ ๔๐ ปี ก็เกิดไฟไหม้อีกเหมือนคราวที่แล้ว เมื่อวันที่ ๙ เมษายน ๒๕๓๑ เพลิงเผาผลาญร้านค้าในตลาดไป ๒๘๕ หลังคาเรือน ประมาณค่าสูญเสียในทรัพย์สินเกินกว่า ๓๐๐ ล้านบาท หลังจากไฟไหม้จะสังเกตได้ว่าในบริเวณตลาดส่วนที่ไฟไหม้อาคารจะเป็นตึกหลาย ชั้น ถนนกว้างขั้น แต่ต่อมาความเจริญของตลาด ได้เปลี่ยนจุดจากชายน้ำมายังที่มีรถผ่านสะดวก ถือถนนบางคล้า-แปลงยาว และถนนระเบียบกิจอนุสรณ์ คนตลาดที่ถูกไฟไหม้จึงย้ายที่ทำมาหากินออกมาด้านนอกกันมาก
เป็น ที่น่าสังเกตว่าชาวตลาดเมื่อถูกไฟไหม้ครั้งที่แล้วบรรดาธนาคารต่าง ๆ เตรียมเงินไว้เพราะคาดว่า คนที่ถูกไฟไหม้จะต้องมาเบิกเงินเพื่อนำไปใช้จ่าย แต่ผิดคาดเพราะชาวตลาดนำเงินหนีไฟมาฝากธนาคารเพิ่มขึ้นและมีหน่วยบรรเทา ทุกข์นำข้าวสาร อาหารแห้ง ผ้าห่ม และภาชนะต่างๆ มาแจก คนที่มารับจริง ๆ กลับไม่ใช่คนที่ถูกไฟไหม้เพราะคนถูกไฟไหม้ไม่ยอมมารับ

        นอกจากเหตุการณ์ไฟไหม้ใหญ่ทั้งสองครั้งข้างต้นแล้ว ตลาดบางคล้ายังได้รับภัยจากน้ำท่วมใหญ่ ในปี พ.ศ. ๒๕๐๐ น้ำท่วมถนนในตลาดสูงถึง 2 เมตร ชาวตลาดบางคล้าได้รับทุกข์จากภัยน้ำท่วมการสูญเสียทรัพย์และชีวิต โรงเรียนต้องปิดนานเป็นเดือน ๆ หลังน้ำลดตลาดบางคล้าต้องใช้เวลาฟื้นฟูอยู่นานจึงจะกลับสู่สภาพปกติ

กลุ่มชาวดง
        ใน สมัยก่อนพื้นที่เขตอำเภอบางคล้ารวมพื้นที่เขตอำเภอแปลงยาวและกิ่งอำเภอคลอง เขื่อนไว้ด้วย พื้นที่อำเภอแปลงยาวในสมัยนั้นส่วนใหญ่ยังเป็นป่า มีต้นไม้ใหญ่ ๆ ซึ่งสามารถตัดมาเป็นท่อนซุงและนำมาแปรรูปเป็นไม้ชนิดต่าง ๆ นอกจากนั้นยังมีลูกไม้ซึ่งตัดมาทำเสาเข็มตอกลงดินในการทำรากฐานของการปลูก บ้าน จึงมีชาวบ้านส่วนหนึ่งที่อาศัยอยู่ในดงมีอาชีพหาของป่าขาย เช่น น้ำมันยางหวาย สีเสียด ที่กินกับหมาก น้ำผึ้งและล่าสัตว์ป่า ฯลฯ บางครอบครัวหักร้างถาพงทำไร่และส่วนหนึ่งจะรับจ้างตัดไม้ในป่า ถ้าเป็นไม้เข็มก็จะใส่รถบรรทุกขนมารอขายที่บริเวณข้างตลาดหัวสำโรงปัจจุบัน และจะมีเรือแล่นจากแม่น้ำบางปะกงเข้าคลองท่าทองหลางผ่านทรายหายไปถึงสำโรง แต่ต้องเป็นฤดูน้ำหลาก ไปซื้อเสาเข็มและล่องไปขายตามโรงขายไม้ต่าง ๆ ที่อยู่ริมแม่น้ำหรือริมคลองบางเจ้าอาจล่องไปถึงเขตกรุงเทพฯ โดยเข้าทางคลองท่าไข่หรือคลองท่าถั่ว ถ้าเป็นหน้าแล้งผู้ที่จ้างคนอยู่ในดงตัดเสาเข็มได้แล้วเขาก็จะชักลากผ่าน ท้องนามากองไว้บริเวณ หมู่บ้านตรงสะพานข้าวคลองท่าทองหลาง หรือสะพานที่ออกจากบางคล้าชาวบ้านเรียกติดปากว่าสะพานบ้านตาผล เพราะบริเวณเชิงสะพานมีบ้านคนชื่อตาผลปลูกอยู่ ชาวเรือที่มีอาชีพขายไม้ก็จะสามารถล่องเรือขนาดกลางเข้าคลองท่าทองหลางไป ซื้อไม้เข็มจากสะพานบ้านตาผลได้

        ใน ปัจจุบันชาวดงไม่มีแล้ว เพราะพื้นที่เขตอำเภอบางคล้าและเขตแปลงยาวที่เคยเป็นดงกลายเป็นไร่มัน สำปะหลังหรือโรงงานต่าง ๆ สภาพภูมิประเทศจึงเปลี่ยนไป

บทสรุป

        วิถี ชีวิตของชาวบางคล้าในมัยก่อนค่อนข้างยากลำบากตามสภาพน้ำประปาไม่มี ต้องใช้น้ำในแม่น้ำบางปะกงซักล้าง ดื่มกินแต่น้ำก็สะอาดพอดื่มได้ ค่ำลงก็เข้านอนไม่มีเครื่องบันเทิงเริงรมย์คนขยันก็จะตื่นแต่เช้าหุงหาอาหาร พอสายก็ประกอบธุรกิจตามอาชีพของตัว พ่อค้าจากตำบลหัวสำโรงจะเดินด้วยเท้ามาหาสินค้าจากตลาดบางคล้าไปขายหัวสำโรง แต่จะขายได้กำไรถึง ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ พ่อค้าเหล่านี้จึงร่ำรวยทุกคนในปัจจุบัน

        ใน สมัยนั้นบ้านไหนมีวิทยุผังก็มีศักดิ์ศรีเหนือคนอื่นแล้ว จำมีชาวบ้านใกล้เคียงมาล้อมวงนั่งฟังวิทยุด้วย ตลาดบางคล้ายังโชคดีมีหนังกลางแปลงล่องมาตามลำน้ำมาฉายหน้าวัดแจ้ง นาน ๆ ครั้งจอหนังโตกว่าจอมุ้งหน่อย ฉายหนังได้ 1 ม้วน คนฉายก็โฆษณาสินค้าไป 1 ชั่วโมง คนฟังก็ไม่เบื่อ เพราะดีกว่ากลับบ้านไปนอนเฉย ๆ

        แต่อย่างไรก็ตาม ความยากลำบากในขณะนั้นก็ทำให้กลาย ๆ คนกลับกลายเป็นผู้มีฐานะมั่งคั่งร่ำรวยในปัจจุบัน

ภูมิปัญญาชาวบ้าน

ข้าวหอมมะลิ

ตำบลที่มีการปลูกข้าวมากที่สุด คือ ตำบลบางกระเจ็ด รองลงมาคือ หัวไทรและเสม็ดใต้

      อาชีพ ชาวนาเป็นอาชีพที่ค่อนข้างยากจน บ้างบ้านที่ขยัน ประหยัด ใช้เวลาว่างจากการทำนาประมาณ ๗ – ๘  เดือนต่อไป ปลูกผักสวนครัว หาปูหาปลาหรือหารายได้ทางอื่นก็จะไม่เดือนร้อน สามารถส่งเสียลูกเรียนจบปริญญา บางบ้านไม่ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ เที่ยวกิน เล่นการพนัน ตีไก่ กัดปลาไปวัน ๆ ที่นามีอยู่แทนที่จะปลูกพืชผักสวนครัวไว้กินเอง กลังต้องไปขอข้างบ้านเป็นประจำ ชาวนาประเภทนี้ฐานะก็จะยากจนและไม่สามารถส่งเสียลูกหลานให้เรียนสูง ๆ ได้

หมวกกุยเล้ย
        หมาย กุยเล้ย หรือที่ชาวบ้าน ออกเสียงเพี้ยนเป็น “หมวกกุยและ” เป็นคำที่ใช้เรียกชื่อหมวกแบบจีน มีลักษณะทรงกลมชื่อหมวกแบบจีน มีลักษณะทรงกลมหัวแหลม แพร่เข้าสู่ประเทศพร้อมกับการอพยพเข้ามาของชาวจีนที่นิยมใส่เวลาออกจากบ้าน เนื่องจากหมวกชนิดนี้มปีกกว้างกันแดดกันฝนได้ดี

        หมวก กุยเล้ย สานด้วยไม้ไผ่เป็นโครง ใช้ใบตาบสอดตามโครง ถ้าเป็นหมวกกุยเล้ยชั้นดีจะมีกระดาษชุบน้ำมันปิดทับใบตาลอีกชั้นหนึ่ง ทำให้กันฝนได้ดีขึ้น แต่ราคาก็จะสูงขึ้นตามไปด้วย เขตตำบลปากน้ำ อำเภอบางคล้าประชากรส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรรม ยังคงอนุรักษ์การสานหมวกกุยเล้ย เป็นหัตกรรมพื้นบ้านชิ้นนี้ไว้ ประกอบกับมีความพร้อมทางด้านวัตถุดิบในท้องถิ่น จึงยังคงมีการสานหมวกกุยเล้ยจนถึงปัจจุบันผลงานฝีมือการสานหมวกกุยเล้ยของ อำเภอบางคล้าได้รับรางวัลชนะเลิศผลิตภัณฑ์หัตกรรมพื้นบ้านของกระทรวง อุตสาหกรรมเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๐

วิธีทำหมวกกุยเล้ย คุณยายตลับเล่าให้ฟังว่า…
        เริ่มต้นสานโครงหมวกตาหยาบและตาละเอียดอย่างละ ๑ ใบ โดยหาไม้ไผ่ลำพอเหมาะนำมาทอน ท่อนละประมาณ 1 เมตร เหลาให้เป็นตอก แยกขนาดไว้สำหรับสานและเก็บขอบ เริ่มสานจากหัวหมวกจนก่อหัวได้แล้วจึงนำมาวางทาบบนแบบและสานต่อจนได้ขนาด เป็นทรงหมวกเก็บขอบให้เรียบร้อย (เม้มขอบ) นำ โครงหมวก ๒ ใบ ที่เตรียมไว้ซ้อนกันใบล่างหยาบ ใบบนละเอียด ใบล่างกรุด้านล่างด้วยใบไผ่แห้ง ใบบนกรุตรงกลางระหว่างหมวก ๒ ใบด้วยกระดาษถุงอาหารชนิดเหนียว เม้นขาดให้เรียบร้อย ถักหมวกโดยใช้ไม้ไผ่งดไขว้กันเป็นสี่ขา เสียบยอดหุ้มด้วยกระดาษใช้คล้าชุบน้ำมันแล้วถักหุ้มหัวหมวกอีกชั้น แล้วใช้คล้ายึดตรึง โครงหมวกให้แน่นตรงขอบหมวกโดยรอบเป็นอันเสร็จขั้นตอน

จากมุงหลังคา
        ใบ จากสามารถนำมาเย็บเป็นตับจากใช้มุงหลังคาบ้านเรืองได้ผู้คนจึงมีอาชีพนี้มาก เมื่อสมัยก่อน เนื่องจากยังไม่มีสังกะสี หรือกระเบื้องมุงหลังคา รวมทั้งทำเป็นฝาบ้านด้วย ใบจากสดนำมาห่อขนมจาก ซึ่งเป็นขนนที่อร่อย และมีคนนิยมทำเป็นอาชีพเลี้ยงตัวเป็นเศรษฐีได้ ปัจจุบันหาคนเย็บจากเป็นยากมาก เนื่องจากความนิยมใช้วัสดุอื่นแทนใบจากมุงหลังตา และทำฝาบ้านลดลงไปจึงเกือบไม่เหลือ

มะม่วงแรด

      บางคล้า เป็นแหล่งผลิตมะม่วงที่มีชื่อเสียงโด่งดังมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “มะม่วงแรด” ซึ่งจะมีนอหรือเขาอยู่บนผลคล้ายนอแรด จึงได้ชื่อว่า “มะม่วงแรด” ตามลักษณะผล ผลมีรูปร่างและสีผิวแบ่งออกได้ ๒ ชนิด ชนิดหนึ่งผิวสีเขียวนวลอมเหลือง รูปร่างด้วนป้อมน่ารับประทาน และอีกชนิดหนึ่งผิดสีเขียวเข้มผลยาว มะม่วงแรดมีรสชาติ มัน หวานอมเปรียวนิด ๆ กรอบ ต่างจากมะม่วงมันพันธุ์อื่น ๆ ซึ่งจะมีรสมันอย่างเดียว หรือจืด นิยมรับประทานมะม่วงแรดกับน้ำปลาหวาน จะเพิ่มรสชาติให้อร่อยยิ่งขึ้น เมื่อปล่อยให้มันแกจัดเกือบสุกคาต้น ที่เรียกกันว่า “ปากตะกร้อ” นั้น รสชาติจะหวานมันอร่อยกว่ามะม่วงชนิดใด ๆ มีผู้นำพันธุ์มะม่วงแรดจากบ้างคล้าไปปลูกยังท้องถิ่นอื่น ๆ ก็สามารถเจริญเติบโตได้ดี แต่รูปร่างของผลและรสชาติจะไม่เหมือนกัน มักจะพบว่าเปรียบมากไม่อร่อย นักกินมะม่วงจะทราบทันทีว่ามะม่วงแรดบางคล้า แม่ค้าที่ตลาดมหานาค กรุงเทพฯ จะชำนาญมาก เพียงแค่มองปราดเดียวก็รู้ว่าเป็นมะม่วงแรดของบางคล้าหรือไม่ ถ้าใช่ก็จะให้ราคาสูงเป็นที่น่าพอใจของเกษตรกร การที่มะม่วงแรดบางคล้าอร่อยกว่ามะม่วงแรดของที่อื่น อาจเนื่องจากความอุดมสมบูรณ์ของดินสภาพพื้นที่สภาพภูมิอากาศรวมถึงความเอาใจ ใส่ของเจ้าของสวนมะม่วงอีกด้วย

มะพร้าวน้ำหอม
        แปดริ้ว นอกจากจะได้ชื่อว่ามีมะม่วงรสดีแล้ว ยังมีมะพร้าวอ่อนน้ำหอมหวานเป็นของดีอีกอย่างหนึ่งด้วย มะพร้าวอ่อนทั่ว ๆ ไป เปลืองจะเป็นสีเขียว ขนาดผลเท่า ๆ ฝ่ามือ เมื่อจะรับประทานก็เพียงเฉพาะบริเวณก้น ฝานกะลาออกโดยง่ายและดูดหรือดื้มน้ำก่อนจึง ผ่าซึกเพื่อแคะเนื้อมะพร้าวอ่อน ถ้าอ่อนมากเกินไปเนื้อจะบางคล้าย ๆ วุ้นและน้ำจะออกรสเปรียว หรือถ้าแก่เกินไปเนื้อก็จะแข็งไม่อร่อย ฉะนั้นผู้จะตัดมะพร้าวจึงต้องเชี่ยวชาญในการดูว่าเมื่อไหร่จึงจะควรตัด

        มะพร้าว อ่อนมีหลายพันธุ์ แต่มีพันธุ์หนึ่งที่แปลก สะดุดตาตั้งแต่สีเปลือกและจำนวนผลก็คือ “มะพร้าวพวงร้อย” ซึ่งพบเป็นครั้งแรกที่ตำบลบางสวน อำเภอบางคล้า มะพร้าวพันธุ์นี้ผลจะเป็นสีเหลืองออกลูกดกเต็มคอ ขนาดผลไม่โตนัก ผลที่สมบูรณ์จะมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๕ เซนติเมตร ร้านอาหารนิยมนำไปทำภาชนะนึ่งห่อหมก และทำมะพร้าวสังขยาทำให้แปลกตาน่าดูและรสมะพร้าวยังส่งความหอมหวานมายัง อาหารที่รองรับอีกด้วย

        ใน งาน “บางคล้า ๑๐๐ ปี” จะมีเกษตรกรมนำมะพร้าวน้ำหอมหวานรสบางคล้า มาให้ท่านผู้อ่านได้พิสูจน์ หรือจะไปที่บ่อกุ้ง กำนันประจักษ์ เอี่ยมศิริ ตำบลหัวไทร อำเภอบางคล้าได้ทุกเวลา

การทำน้ำตาลสด
        การ ทำน้ำตาลสด ผู้ทำน้ำตาลต้องปีนต้นตาลขึ้นไปจนถึงยอดตาล พร้อมด้วยมีดปากตาล ไม้ตะเกียบสำหรับนวดตาลและกระบอกตาลซึ่งทำด้วยไม้ไผ่หาที่นั่งให้เหมาะแล้ว จัดการนวดงวงตาลตัวผุ้ปละจั่นตัวเมีย ด้วยไม้นวดตาล ซึ่งเป็นไม้คู่ติกัน ๒ ชนิด อย่างอันเล็กกลมนวดจั่นตัวเมีย อย่างอันใหญ่แบบนวดงวงตัวผู้ งวงตาลตัวผู้จะยาวเรียบจั่นตาลตัวเมียจะมีลูกตาลเล็ก ๆ ที่จั่นตาล เมื่อนวดงวงตาลแล้วใช้มีดปาดงวงตาลตามขวาง น้ำตาลจะหยดออกมาจากรอยแผลนั้น นำกระบอกตาบซึ่งผ่านการรมควันแล้ว เป็นการฆ่าเชื้อโคร ทำให้ได้กลิ่นหอมของควันจากกาบมะพร้าว และห้องกันไม่ให้น้ำตาลบูดนำเปลือกพยอม ๒ ชิ้น ชิ้นขนาดนิ้วก้อยใส่ลงไปในกระบอก ก่อนำกระบอกไปแขวงที่งวงตาล จั่นตาลตัวเมียจะใช้จั่นเดียวต่อ ๑ กระบอก แต่งวงตาลตัวผู้ ต้องใช้ ๓ – ๔ งวง ต่อหนึ่งกระบอกโดยมัดรวมกัน เพราะน้ำตามจากงวงตัวผู้จะมีน้อยกว่าจั่นตาลตัวเมีย เวลาที่นำกระบอกมารองน้ำตาลจะเป็นเวลาประมาณเพลนำหระบอกมาแขวง และขึ้นเก็บตอนเย็นแล้วนำไปต้ม เรียกน้ำตาลเย็น เมื่อเก็บน้ำตาลเย็น นำกระบอกตาลใหม่มาเปลี่ยน โดยปาดงวงตาลใหม่ งวงตาลก็จะสั้นลงไปเรื่อย ๆ น้ำตาลจากกระบอกที่มาแขวงตอนเย็นนี้ จะเก็บตอนเช้าแล้วนำมาต้ม เรียกว่า น้ำตาลเช้า ทำสลับกันเช่นนี้ เมื่อนำน้ำตาลมาเคี่ยวก็จะเทรวมกันลงไปในกะทะใบบัวใหญ่ที่ตั้งอยู่บนเตาเกลบ สมัยก่อนใช้ใบตาลแห้งซึ่งเรียกว่า “ทางตาล” เป็นเชื้อเพลิงแทนฟืน ปัจจุบันเตาเกลบจากโรงสีซึ่งสะดวกมาก ส่วนเตาที่ทำจากดินเหนียวใช้ตะแกรงชิ้นเปลือกพยอมออกแล้วเคี่ยวต่อไป เคล็ดลับในการเคี่ยวไม่ให้น้ำตาลล้น คือ นำไม้ไผ่มาสานเป็นทรงกระบอกครอบลงไปในกะทะเมื่อได้ที่ช้อนฟองที่ลอยบนผิว หน้า ใช้เวลาต้มประมาณครึ่งชั่วโมง ตักส่งไปจำหน่ายได้เป็นน้ำตาบสดนิยมใส่น้ำแข็งใช้เป็นเครื่องดื่มแก้กระหาย น้ำได้ดี

การทำน้ำตาลงบ
        น้ำตาล สด หากไม่นำไปขายเป็นน้ำตาลสด สามารถนำน้ำตาลไปเคี่ยวเรื่อย ๆ ประมาณ ๓ ชั่วโมง โดยช้อนฟองออก กวนน้ำตาลด้วยไม้พายเพื่อป้องกันน้ำตาลติดกะทะ หรือไหม้ก้นกะทะ หากมีฟองต้องช้อนฟองทิ้ง นำใบลานมาทำเป็นวงงบ วางบนใบตองหรือใบไม้ชนิดอื่น ถ้ามีผ้าขาวบางรองอีกชั้นก็ยิ่งดี (ปัจจุบันมีเครื่องกวนน้ำตาลคล้ายกับเครื่องตีแป้ง) เมื่อเคี่ยวได้ที่ จึงนำน้ำตาลไปเทใส่วงงบ ที่วางเตรียมไว้ ทิ้งไว้จนแห้ง แกะออกจากงบ นำไปบรรจุใส่ถุงพลาสติก ออกจำหน่ายได้

        น้ำตาล งบนิยมทำในฤดูหนาว เนื่องจากในฤดูนี้จะได้ประมาณน้ำตาลสดมากเกินแก่ความต้องการของตลาด ส่วนที่เหลือ จึงนำมาเคี่ยวไว้ขายเป็นน้ำตาลงบ ซึ่งสามารถเก็บไว้ได้นานหลายเดือนหากเป็นฤดูร้อนมักนิยมทำเฉพาะน้ำตาลสดเท่า นั้น เพราะปริมาณน้ำตาลมีน้อยกว่าและผู้บริโภคต้องการดื่มน้ำตาลสดมากขึ้น เพื่อแก้ร้อนและดับกระหาย

ขนมเปี๊ยะ
        ขนมเปี๊ยะของบางคล้าเป็นต้นตำรับจีนโบราณประยุกต์ให้เช้ากับรสนิยมของคนไทยเดิม (ประมาณ ปี พ.ศ. ๒๔๙๖)ตลาด บางคล้า มีร้านขนมเปี๊ยะอยู่ ๓ เจ้าคือ ร้านฉั่วกุ่ยจั๊ว ร้านอึ๊งมุ่ยเส็ง และร้านตั้งเซ่งจั๊ว ปัจจุบันร้าน ฉั่วกุ่ยจั๊วได้เปลี่ยนไปทำกิจการอื่น จึงเหลือจนมเปี๊ยะเพียง ๒ เจ้า คือ ร้านอึ๊งมุ่ยเส็ง ตั้งอยู่ถนนระเบียบกิจอนุสรณ์ส่วนร้านตั้งเซ่งจั๊ว ตั้งอยู่ถนนบางคล้า-แปลงยาว

        ขนม เปี๊ยะทั้ง ๒ เจ้า ได้รับความชื่นชอบทั้งในด้านรสชาติ และรูปลักษณ์ของบรรจุภัณฑ์ จึงเป็นที่นิยมนำไปเป็นของฝากของขวัญในโอกาสต่าง ๆ และเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๘ ประธานาธิบดีเซียนเนียน แห่งสาธารณะประชาชนจีน ได้มาเยือนประเทศไทย ทางโรงเรมโอเรียนเต็ล ซึ่งได้รับเกีรยติให้เป็นผู้จัดของขวัญ ก็ให้จัดขนมเปี๊ยะตั้งเซ่งจั๊วแด่ท่านประธานาธิบดีเซียนเนียน

ไก่ชนบางคล้า
        ตาม ที่ผู้เฒ่าเล่าขานตำนานไก่ชนบางคล้า เป็นไก่ใต้ถุนบ้าน แต่โบราณเลี้ยงไว้อเนกประสงค์ ขันยาม ไข่ต้มให้ลูกกิน ที่เหลือฟักออกมาเป็นลูกเจี๊ยบ เลี้ยงไว้จนเติบใหญ่ฆ่าเลี้ยงเพื่อนฝูงตอนมาเยือนยามอดฆ่าปรุงอาหาร ตัวผู้เป็นไก่ชนยามว่างงาน เช่น ชาวนาเมื่อหมดหน้าไถนา ดำนา ก็อุ้มไก่ไปชนกัน ไก่ชนเป็นไก่นักมวยที่ต่อสู้ด้วยชั้นเชิง ลีลาธรรมชาติสินให้รู้จักต่อสู้เอง ไม่มีครูผู้ฝึกสอน ต่อมามีบ่อนไก่ ปลากัด รัฐเปิดให้ถูกต้องตามกฎหมาย ไก่ชนบางคล้า จึงเป็นที่รู้จักกันกว้างไกล เพราะมีผู้นำไปชนทั่วประเทศส่วนมากมีผู้ซื้อหาไปชนทั้งในประเทศ และต่างประเทศ

        ไก่ ชนบางคล้ามีชื่อเสียงมานานหลายสิบปีผุ้ที่มีชื่อสเยงโงดังมากในการเพาะฟัก เลี้ยงดูลูกไก่ชน และฝึกฝนให้มีฝีมือ ชนะการต่อสู้ไก่ถิ่นอื่นอยู่เสมอ คืน นายชั้น กล้าผจัญ ซึ่งมีบ้านพักอาศัยอยู่หลังวัดแจ้ง จะเป็นแหล่งที่นักเลงไก่ชนรู้จักกันดีกว่า เป็นที่ผสมพันธุ์ คัดพันธุ์ และปรับปรุงพันธุ์ไก่ชนที่มีน้ำอดน้ำทน มีฝีมือ มีไหวพริบ ชั้นเชิงในการต่อสู้ดีไม่แพ้ใคร แต่ปัจจุบันนี้ก็เสื่อมไปตามกาลเวลาเป็นไปตามธรรมชาติของสรรพาสิ่งที่เกิด ตั้งอยู่ และดับไป


ปลากัดพันธุ์ลูกหม้อบางคล้า

        ปลา กัดพันธุ์ลูกหม้อบางคล้า สายพันธุ์เดิมเป็นพันธุ์ปลากัดลูกทุ่ง สมัยก่อนอำเภอบางคล้า มีหนองน้ำหลายแห่งที่มีน้ำตลอดทั้งปี ไม่มีการแห้งมีปลาตัวเล็กชนิดหนึ่งชอบต่อสู้กัน และมีสีสันสวยงามมาก มีผู้นำมาเลี้ยง และตั้งชื่อว่า ปลากัดลูกทุ่ง ต่อมาได้พัฒนาสายพันธุ์ให้ตัวใหญ่ขึ้น โดยนำมาเลี้ยงในกระถางและขุดบ่อเป็นสายพันธุ์ใหม่ มีชื่อว่าปลากัดลูกหม้อเป็นต้นตอ แต่นั้นมาเป็นร้อยปี ขณะนี้ตามบึงและหนองน้ำก็ยังมีปลากัดลูกทุ่งอยู่ ส่วนปลากัดหม้อจะเลี้ยงอยู่ตามบ้าน เลี้ยงเพื่อจำหน่าย และได้พัฒนาเป็นปลากัดไทย ตามที่กรมประมงตั้งชื่อไว้ยื่นยังได้ว่าปลากัดไทย คือ ปลากัดลูกหม้อพันธุ์อำเภอบางคล้า ซึ่งเป็นแหล่งต้นกำเนิดที่แท้จริง
ความเชื่อและวัฒนธรรม


ประเพณีท้องถิ่น

ความเชื่อ และพิธีกรรมการเข้าทรง

        การเข้าทรง เป็นความเชื่อ และพิธีกรรมในการรักษาโรคของชาวไทยเชื้อสายเขมร ที่อาศัยอยู่ หมู่ที่ ๑, ๒ ตำบลเสม็ดเหนือ หมู่ที่ ๓ ตำบลเสม็ดใต้ ติดต่อกับตำบลหัวสำโรง ตำบลแปลงยาว อำเภอแปลงยาว ซึ่งเดิมเป็นอำเภอพนมสารคามปัจจุบัน นับเป็นร้อยปี บุตรหลายคนอพยพกลุ่มนี้ยังคงสืบทอดประเพณีและความเชื่อดั้งเดิม เกี่ยวกับผีบรรพบุรุษ และแสดงความเป็นกลุ่มชนด้วยพีกรรมที่มีลักษณะเฉพาะ คือ “การเลี้ยงผีเขมร” เป็นความเชื่อต่อเนื่องกันมาตั้งแต่ครั้ง ปู่ ย่า ตา บาย ว่าสาเหตุของการเจ็บไข้ได้ป่วย บางครั้งอาจเกิดจากลูกหลานปล่อยปละละเลย ไม่ปฏิบัติตามประเพณีของบรรพบุรุษ เช่น การจัดพิธีแต่งงานที่ไม่มีพิธีไหว้ผีเขมรบรรพบุรุษ หรือที่เรียกว่า “เบบทจาตุม” ทำให้เกิด การเจ็บป่วยหรือครอบครัว จะอยู่ไม่สุข เรียกว่า “การกระทำผิดผี”
วิธี การรักษา ต้องให้คนทรงเพื่อทำพิธีขึ้นหิ้ง เชิญผีญาติพี่น้องมาถามว่า ผู้ป่วยผิดผีผู้ใด เมื่อทราบแล้วคนทรงก็ทำพิธีบนบานศาลกล่าวแทนผู้ป่ายให้หาย เมื่ออาการดีขึ้นหรือหายจากการเจ็บไข้ได้ป่วย ก็จะทำพิธีแก้บนเลี้ยงผีเขมรตามที่บนบานไว้

พิธีเข้าทรง คนทรงจะต้องเป็นคนที่มีเชื้อสายเขมร
เครื่องเซ่น ประกอบด้วย

๑. ไก่ ๑ ตัว
๒. เหล้า ๑ ขวด
๓. เงิน ๑๒ บาท
๔. บายศรีปากชาม, บายศรีต่อ, บายศรีโตก
๕. ข้าวตอก
๖. ข้าวต้มหมู่, ข้าวต้มกล้วย
๗. ผลไม้ประกอบ (มีก็ได้ไม่มีก็ได้)

พิธีไหว้ครู มีขนมต้มขาว, ขนมต้มแดง พร้อมด้วยสำรับกับข้าวและพานครู
เครื่องดนตรี ประกอบด้วย

๑. กลองโทน ๓ ใบ
๒. ปี่ออ, ปี่ป๊วก (มีก็ได้ไม่มีก็ได้)
๓. ซอสามสาย
๔. ตะเฆ่

การเซ่นคนตาย

การเซ่นคนตาย (การส่งเรือ) เป็น การส่งอาหารเครื่องนุ่งห่มรูปปั้นคน และสัตว์เลี้ยง ไปให้บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว ไว้ใช้ในต่างภพโดยการนำเอาสิ่งของดังกล่าว ใส่ลงไปในเรือที่ทำด้วยกาบกล้วยแล้วนำไปปล่อยในแหล่งน้ำ ลำคลอง บึง แม่น้ำ กระทำกันในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ เหมือนพิธีกรรมวันทำบุญเดือนสิบสอบของคนไทย

เบบาจาตุม
เบบาจาตุม เป็นการเซ่นไหว้ผีปู่ย่าตายาย เมื่อมีคู่ครองไม่ว่าจะเป็นการแต่งงานหรือการขอขมาก็ตาม โดยมีเครื่องเซ่นไหว้ ได้แก่

๑. ขนมต้มแดง ขนมต้มขาว
๒. อาคารหวาน คาว อย่างละ ๑ สำรับ
๓. เหล้า ๑ ขวด
๔. ไก่ต้ม ๑ ตัว
๕. ดอกหมากช่อละ ๓ ดอก

หลังไหว้ผีบรรพบุรุษ คู่บ่าวสาวจะได้รับการอวยพรเป็นภาษาเขมร สลับด้วยการซัดช่อเอกหมากจากญาติพี่น้อย ๓ ครั้ง

ประเพณีเกี่ยวกับชีวิตของบุคคล

ประเพณีการเกิด
        วิถี การดำเนินชีวิตของชาวบางคล้าของคนรุ่งเก่า มีความเชื่อและธรรมเนียมปฏิบัติเกี่ยวกับการคลอดบุตรว่า มาสารถทำนายเพศของทารกจากใบหน้าของผู้เป็นมารดา กล่าวว่า ถ้าใบหน้าของผู้เป็นมารดาหมองคล้ำ เป็นฝ้า ตกกระ จะได้บุตรเป็นผู้ชาย แต่ถ้าใบหน้าของผู้เป็นมารดาสวยเรียบสะอาดสะอ้าน มีน้ำมีนวล จะได้บุตรเพศหญิง

        นอก จากนี้ยังมีความเชื่ออีกว่า ผู้ที่จะคลอดบุตร จะต้องทำงานบ้านให้มากเป็นพิเศษ เช่น ตักน้ำ ตำข้าว เก็บกวาดถูบ้าน จะทำให้คลอดบุตรง่าย

ประเพณีเกี่ยวกับการบวช

      ชาว อำเภอบางคล้ามีประเพณีการบวชเหมือนกับคนทั่วไปมักนิยมให้บุตรชายหรือหลายชาย ที่มีอายุ ๒๐ ปีบริบูรณ์ ได้อุปสมบทในพระพุทธศาสนา เพื่อเป็นการทดแทนพระคุณของบิดามารดา ในการบวชนั้น นิยมจัดให้มีการทำขวัญนาค เพื่อสั่งสอนให้นาคเกิดสำนึกถึงพระคุณของมารดาผู้ให้กำเนิดและนิยมแห่นาคไป อุปสมบทที่วัดในเวลาเช้ว

ประเพณีเกี่ยวกับการแต่งงาน

        ชาว อำเภอบางคล้า มีประเพณีการประกอบพิธีเกี่ยวกับการแต่งงานด้วยวิธีสากล เช่นเดียวกับชุมชนอื่น ๆ อาจจะมีข้อปลีกย่อยอื่น ๆ ตามเชื้อสายจีน เชื้อสายเขมร และเชื้อสายไทยแท้ ที่ต้องจัดเครื่องเซ่นไหว้ผีบ้านผีเรือน เพื่อบอกกล่าวบรรพบุรุษที่แตกต่างกัน และนิยมการละเล่นกั้นขันหมากหลากหลายวิธี เพื่อทดสอบความพยายามความอดทนของเจ้าบ่าว ตลอดจนนิยมการจัดขนมขันหมากเป็นคู่เพื่อความราบรื่นของชีวิตสมรสของคู่บ่าว สาว เป็นต้น

ประเพณีส่วนสังคม หรือส่วนชุมชนที่คนในสังคมปฏิบัติร่วมกัน
        ประเพณี ส่วนสังคม หรือชุมชนของชาวอำเภอบางคล้าเป็นประเพณีสากลที่สืบทอดกันมาโดยทั่วไป เช่น การรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ในประเพณีวันสงกรานต์ ประเพณีการแห่เทียนเข้าพรรษา ประเพณีลอยกระทง ประเพณีตัดบาตรเทโว จะมีประเพณีที่แตกต่างไปจากประเพณีทั่วไป เป็นประเพณีของชาวอำเภอแปลงยาว ซึ่งเดิมเป็นอำเภอบางคล้า เช่น

ประเพณีขึ้นเขาเผาข้าวหลาม
        เป็น ประเพณีประจำท้องถิ่นของชาวตำบลหัวสำโรง ซึ่งได้ปฏิบัติสืบทอกันมาเป็นเวลาช้านาน ดำเนินการในวันเพ็ญเดือน ๓ ของทุกปี ซึ่งบรรดาพุทธศาสนิกชนในตำบลหัวสำโรง หรือตำบลใกล้เคียงจะเดินทางไปนมัสการรอยพระพุทธบาทจำลองที่วัดเขาสุวรรณคีรี ตำบลหนองแหน อำเภอพนมสารคาม ซึ่งเป็นรอยต่อระหว่างตำบล ในการเดินทางไปนั้น เนื่องจากสมัยก่อนทางคมนาคมลำบากมาก ต้องเดินทางผ่านป่าเขา ประชาชนจึงนมยมเผาข้าวหลามนำไปเป็นเสบียงระหว่างทางและนำไปถวายพระสงฆ์ที่ วัดด้วย ปัจจุบันประเพณีดังกล่าวยังปฏิบัติสืบทอดกันมาตลอด

ประเพณีถวายพระเพลิงพระพุทธเจ้า
        เป็น ประเพณีของชาวไทยเชื้อสายเขมร ที่บ้านหัวสำโรง อำเภอแปลงยาว ได้ปฏิบัติสืบทอดกันมานานนับร้อยปี บนพื้นฐานความเชื่อว่า พุทธสาสนิกชนที่ได้ร่วมถวายพระเพลิงพระพุทธเจ้าจะได้บุญกุศลอย่างแรงกล้า ประเพณีนี้ถือกำหนดเริ่มตั้งแต่วันแรม ๘ ค่ำ ถึงวันแรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ รวม ๘ วัน เป็นวันประกอบพิธีสงฆ์สวดพระอภิธรรม จากนั้นในวันที่ ๙ คือวัน ขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๖ เป็นวันถวายพระเพลิง

        ก่อน งานชาวบ้านจะร่วมมือร่วมใจกันสร้างโลง และรูปจำลองของพระพุทธเจ้า แล้วนำไปตั้งเบื้องหน้าพระประธานในพระอุโบสถ ครั้นวันแรม๘ – ๑๕ ค่ำ พระสงฆ์จะลงสวดพระอภิธรรมตั้งแต่ ๒๐.๐๐ น. เป็นต้นไป เพื่อให้เป็นกุศลแด่ผู้สดับธรรม แต่ละคืนชาวบ้านจะร่วมกันนำจตุปัจจัยมาถวายแด่พระสงฆ์เหล่านั้นเป็นการทำบุญ ครั้นวันขึ้น 1 ค่ำ หลังสวดพระอภิธรรมก็จะมีการนำโลงและรูปจำลองของพระพุทธเจ้า แห่เวียนรอบพระเมรุมาศจำลอง แล้วจึงยกขึ้นวางบนจิตกาธาน พระสงฆ์สวดมาติกาบังสุกุล ถวายดอกไม้จันทน์ร่วมกับชาวบ้านแล้วถวายพระเพลิง

ประเพณีการเสียแม่ซื้อ
        ประเพณี การเสียแม่ซื้อ นิยมทำกันในพื้นบ้านตำบลหัวไทร และใกล้เคียง จากการสอบถามประเพณีนี้จากคณะกรรมการขั้นพื้นฐานของโรงเรียน คือ นายสุทัศน์ เมฆฉ่ำ และจากภูมิปัญญาท้องถิ่นของโรงเรียนวัดหัวไทร คือ นางกล่อม แก้วมณี ได้ความว่า ประเพณีเสียแม่ซื้อนี้ จะทำพิธีนี้เฉพาะงานมงคลต่าง ๆ เช่น ประเพณีโกนจุก ประเพณีบวชนาค เพื่อเป็นการเคารพ สักการะ และเพื่อเป็นการระลึกถึงแม่ซื้อประจำวันเกิดของแต่ละคน คอยดูแลเรามาตั้งแต่แรกเกิด โดยมีชื่อแม่ซื้อแต่ละวันเกิดดังนี้

แม่ซื้อวันอาทิตย์ ชื่อว่า แม่จิตดาวัน
แม่ซื้อวันจันทร์ ชื่อว่า แม่จันทะนงคราญ
แม่ซื้อวันอังคาร ชื่อว่า แม่ลักขะบริสุทธิ์
แม่ซื้อวันพุธ ชื่อว่า แม่สามนทัด
แม่ซื้อวันพฤหัส ชื่อว่า แม่สะโลทุกข์
แม่ซื้อวันศุกร์ ชื่อว่า แม่ยักษ์ขะนงเยาว์
แม่ซื้อวันเสาร์ ชื่อว่า แม่เอตาลัย

        การจัดทำเครื่องเซ่นไหว้ โดยการใช้กาบกล้วยกว้างประมาณ ๒.๕ นิ้ว มาทำหักมุมฉากทำเป็นกระบะสี่เหลี่ยม มีเชือกผูกโยงสี่มุมไว้สำหรับแขวน ใช้ไม้ไผ่เสียบภายในกระบะ เว้นระยะพอประมาณ จำนวน ๔ – ๕ อัน เสร็จแล้วตัดใบตองวางบนพื้นนั้น ใช้ใบตองทำพองาม ประมาณ ๗ ใบ วางในกระบะนั้น ภายในกระทงใส่ ดอกไม้ ธูป เทียน หมาก พลู สตางค์ กระทงละ ๑ บาท ใส่กุ้งกล่า ปลายำ (ยำปลากระป๋องก็ใช้ได้)

        เตรียมมะพร้าวแห้ง ๑๑ ลูก หุ้มด้วยกระดาษเงินกระดาษทองถ้าเป็นงานแต่งงานใช้มะพร้าว ๒ ลูก มีสายสิญจน์ยาวประมาณ 1 คืบ เศษ ไปผูกที่จุกเด็กที่จะโกนจุกแล้วนำมาใส่ในกระทงไว้ เวลาจะทำพิธีใช้ผ้าขาวปูกับอื้น และเอากระบะที่มีเครื่องเซ่นไหว้ครบมาวางขนผ้าขาวนั้น ผู้ทำพิธีจะกล่าวเป็นคำคล้องจองเรียนเชิญแม่ซื้อ ทั้ง ๗ วัน มากินเครื่องเส้นไหว้ เพื่อเป็นการสักการะบูชา และระลึกถึงพระคุณของแม่ซื้อ เสร็จแล้วจะนำกระบะนั้นไปแขวนที่ต้นไม้ทางทิศตะวันออกเพื่อเป็นการขอขมาลา โทษแม่ซื้อที่คอยเฝ้าดูแลเลี้ยงดูมาเพื่อเป็นสิริมงคลแกคนโกนจุก คนบวชนาค หรือคู่บ่าวสาวที่จะแต่งงานกันให้มีความสุข ความเจริญรุ่งเรืองตลอดไป เป็นอันเสร็จพิธีเสียแม่ซื้อ

ประเพณีสงกรานต์
        ในระหว่างวันที่ ๑๓ – ๑๕ เมษายน ของทุกปี เป็นเทศกาลงานสงกรานต์ที่ชาวบางคล้ารอคอยอย่างใจจดใจจ่อ โดยเฉพาะพวกเด็ก ๆ ทุกคนอยากดูขบวนแห่นางสงกรานต์ พากันเดือนตามขบวนที่เดินผ่านตลาดไปไหว้ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองแล้วเคลื่อนย้าย ไปรวมตัวกันที่หน้าอำเภอเพื่อประกวดเทพีสงกรานต์ ตอนบ่ายมีการสรงน้ำพระและก่อเจดีย์ทรายประดับประดาแตกแต่งเป็นที่สวยงามที่ วัดแจ้ง ช่วงนี้เองที่ทุกคนพากันสนุกสนานกับการเล่นสาดน้ำไม่ว่าจะเปียกแค่ไหนก็ไม่ ว่ากัน เรียกว่าเผลอเมื่อไหร่เปียกเมื่อนั้น ทำบุญเสร็จก็พากันไปปล่อยนกปล่อยปลา หนุ่มสาวจะมีโอกาสได้พบปะสนทนากันอย่างเปิดเผย ตกกลางคืนได้ดูมหรสพและ การละเล่นหลากหลายชนิด ที่ทางอำเภอจัดให้มีทั้งลิเก ลำตัด ฯลฯ โดยเฉพาะในยุคสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ได้ส่งเสริมให้มีการรำวงจนเป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลาย

งานทอดกฐิน
        หลัง จากวันออกพรรษา พุทธศาสนิกชนมักจัดงานทอดกฐินโดยบอกบุญกับญาติสนิทมิตรสหาย ให้มาร่วมทำบุญด้วยกัน เรียกว่า กฐินสามัคคี มีการเตรียมการกันวุ่นวายเป็นที่สนุกสนามและอิ่มเอมใจก่อนกำหนดวันทอดกฐิน จะมีการฉลองกฐินกันเป็นที่ครึกครื้น กลางคืนมีมหรสพต่าง ๆ บางครั้งมีการนำกฐินไปทอดที่วัดต่างกัน มักไปทางเรือและมีผ้าป่าพ่วงไปด้วย ผ่านวัดใดก็จะนำผ้าป่าขึ้นไปแขวนบนกิ่งไม้ พร้อมทั้งเครื่องไทยทานกองไว้ใต้ต้นไม้แวะเรื่อยไปทุกวัด จนถึงวัดเป้าหมายที่เขาได้จองกฐินไว้ ก็จะจอดเรือเทียบท่าวัด และนำขบวนองค์กฐินขึ้นไปบนวัด หลังจากพระกรานกฐินแล้วฉันภัตตาหารเพลเรียบร้อยแล้ว บ่าย ๆ มักจะจัดแข่งเรือยาวเป็นที่สุกสนาน แม้เมื่อที่วัดบ้านเราเป็นเจ้าภาพต้องรับองค์กฐินที่มาจากต่างถิ่น ก็จะจัดงานต้อนรับองค์กฐิน และมีการแข่งเรือยาวเสมอมา เรือยาวที่มีชื่อเสียงโงดังของบางคล้าฝีพายประมาณ ๕๐ คน ชื่อเรือ “ม้าเทศ” เป็นเรือของวัดปากน้ำปัจจุบันกลายเป็นวัตถุโบราณแล้ว

มี กฐินอีกแบบหนึ่งทำทุกอย่างภายในวันเดียว ตั้งแต่เย็บสบง จีวร ย้อมสี เรียบร้อยภายใน ๑ วัน ซึ่งต้องเกณฑ์ทัพของพวกเพื่อนพ้อง มาช่วยกันคนละมือละไม้ เพื่อให้งานเสร็จได้ภายในวันเดียว เรียกว่า “จุลกฐิน” ดังนั้นเมื่อใครจะทำการเร่งรีบมาก ๆ เขามักจะพูดกันว่า “อย่างกับจุลกฐิน”

ประเพณีเกี่ยวกับการตาย
        มีความเชื่อหลากหลายเกี่ยวกับประเพณีการตาย จำแนกได้ดังนี้

ถ้ามีบุคคลในบ้านล้มเจ็บ และเสียชีวิตที่บ้านให้ตั้งศพบำเพ็ญกุศลที่บ้านได้
กรณีที่บุคคลในบ้านล้มเจ็บ แต่ไปเสียชีวิตที่อื่น จะตั้งศพบำเพ็ญกุศลที่บ้านหรือที่วัดก็ได้
กรณีที่บุคคลตายด้วยอุบัติเหตุ หรือที่เรียกกันว่า “ตายโหง” ห้ามนำศพไปตั้งบำเพ็ญกุศลที่บ้านโดยเด็ดขาด ให้นำไปวัดสถานเดียว

พิธีเซ็งเม็ง

        การ เซ่งไหว้บรรพบุรุษผู้วายชนม์ จะกระทำกันในต้นเดือนเมษายนของทุกปี โดยลูกหลานทั้งหลายจะพากันมาทำ ความสะอาดตกแต่งบริเวณฮวงซุ้ย เพื่อที่จะนำอาคารและผลไม้มา เซ่นไหว้ของสำคัญที่จะขาดเสียมิได้คือ หอยแครงลวก ซึ่งหลังจากเซ่นไหว้เสร็จลูกหลานก็จะนำเปลือกหอยแครงที่รับประทานแล้วไปโปรด ที่เนินฮวงซุ้ย


สืบสานพระราชปณิธาน

สืบสานพระราชปณิธานเพื่อชาวบางคล้า โครงการทฤษฎีใหม่ กองพลทหารราบที่ ๑๑

พลตรีบุญสืบ คชรัตน์

        เพื่อ เป็นการสืบสานพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่ทรงมีพระเมตตาพระราชทานแนวทางพระราชดำริโครงการทฤษฎีใหม่ให้ประชาชนชาว ไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกษตรกรซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ได้สามารถปรับวิถุชีวิตเกษตรกรให้สามารถต่อสู้กับภาวะการแข่งขันในโลกกระแส ยุคโลกาภิวัตน์ได้อยางดี

        หลัก สำคัญของทฤษฎีใหม่ คือ การผสมผลานการดำรงชีวิตด้วยการจัดระเบียบความเป็นอยู่ให้สอดคล้องต่อการทำมา หากินเห็นได้จากการแบ่งพื้นที่เพาะปลู พืชสวน การปลูกข้าว การมีพื้นที่เก็บน้ำและมีบ้านที่อยู่อาศัยที่พร้อมจะเลี้ยสัตว์พื้นบ้านจะ เป็นอาหาร เช่น เป็ด ไก่ หมู ปลา ล้วนเป็นอาหารพื้นฐานของชาวไทยมาแต่โบราณ ทรงสอนให้คนทไยต้อจัดระบบความคิดให้เข้าสู่ระบบการจัดการเรื่องการสร้างผล ผลิตทางการเกษตรเพื่อเลี้ยงครอบครัว

        แนว พระราชดำริดังกล่าวได้รับการตอบรับจากสังคมไทยมากพอสมควร แต่มีปัญหาและอุปสรรคสำคัญยิ่งที่เกษตรกรไทยจำนวนมากในทุกพื้นที่ของประเทศ ไม่สามารถสรุปปัญหาเหล่านี้ได้ เช่น คนไทยขาดความสำนึกต่อการดำรงชีวิตตามแนวทางการเกษตร คนไทยรุ่นใหม่ ๆ มักมองเห็นงานเกษตรเป็นงานใช้แรงงานเป็นงานชั้นต่ำ ทุกคนพยายามหนีไปสู่โรงงานไปสู่เมืองใหม่ เพื่อหางานอื่นทำ งานที่มีรายได้มากกว่าการทำนา งานที่มีความสบาย ไม่ต้องทนหลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดิน พูดให้ตรงก็คือคนไทยขาดความภูมิใจ ขาดความสำนึกในการเป็นเกษตรกรที่จะเป็นผู้สร้างอาหารเลี้ยงคนในแผ่นดิน

        กระแส ยุคโลกาภิวัตน์ ได้ทำลายสังคมบริโภคของคนไทยลงอย่างสิ้นเชิงแทนที่จะเป็นการผลิตเพื่อการ เลี้ยงตัวและครอบครัวมีความเป็นอยู่อย่างครอบครัว กลายเป็นการผลิตเพื่อหากำไร เพื่อสร้างฐานะความร่ำรวย ในอันที่จะนำเงินมาสร้างความสะดวกสบายให้ตัวเอง ดังนั้นผืนแผ่นดินจึงต้องถูกเปลี่ยนมือจากของเกษตรกรเป็นของนายทุนผูกขาด ด้วยการจูงใจในราคาสูงลิ่ว ซึ่งทั้งชีวิตของเกษตรกร จะหาเงินอย่างนั้นไม่ได้ เกษตรกรไทยผู้ร่ำรวยจากการขายที่ดินมุ่งเข้าเมืองมาผจญกับปัญหา และค่าใช้จ่ายที่แพงขึ้น เมื่อเงินร่อยหรอและหมดลงเพราะไม่รู้จักวิธีการจัดการกับเงินอย่างถูกต้อง ทำให้คนไทยไม่มีหนทางกลับมาเป็นเกษตรกรได้อีกแล้ว เขาเหล่านั้นก็ต้องมาต่อสู้กับความยากจน และปัญหาชีวิตอย่างไม่รู้จบ

        ถ้า หากไม่ขายเปลี่ยนมือ พวกเขาเหล่านั้นก็อยากร่ำรวยด้วยการเปลี่ยนนาข้าว และสวนเกษตรเป็นบ่อเลี้ยงกุ้ง เพราะมีโอกาสที่หาเงินได้มากกว่าปลูกข้าว ทำสวนอย่างเห็นได้ชัด นอกจากระบบนิเวศน์วิทยาที่เสียหายไปอีกหลายสิบปี ต่อมาจะมีกี่คนที่ร่ำรวยจากนากุ้งบทจบของการเกษตรเหล่านี้ จำนวนมากที่ต้องสูญเสียที่ดินที่อยู่อาศัยเพื่อพยุงการขาดทุนในกิจการเลี้ยง กุ้ง

        เห็น ได้ชัด คนไทยสำนึกเพียงจะหาโอกาสสร้างความร่ำรวยเพื่อสร้างเงินตามกระแสโลกาภิวัตน์ ทุกคนแข่งขันกันอย่างไม่เงยหน้าดูการเปลี่ยนแปลงของโลกที่ควรจะเป็นหนทาง เดียวที่จะปลูกฝังให้คนไทยดิ้นได้อีครั้งก็คือ แนวทางพระราชดำริให้คนไทยใช้ชีวิตอย่างพอเพียง ทรงเน้นย้ำการอยู่อย่างพอเพียงควบคู่กับแนวทางทฤษฎีใหม่ซึ่งจะเป็นหัวใจ สำคัญที่จะกอบกู้สภาพสังคมชาติไทยให้กลับมาสงบ และสันติสุขอีกครั้ง ต้องเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องสร้างอุดมการณ์ดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง สร้างสำนึกลงในทุกหลักสูตรการศึกษาปลุกเร้าผ่านกระบวนการสื่อสารมวลชนทุก ประเภทให้เป็นระบบ

        กอง พลทหารราบที่ ๑๑ จึงนำเอาแนวประราชดำริทฤษฎีใหม่ มาเป็นโครงการ เพื่อเป็นตัวอย่างแก่เกษตรกรในจังหวัดฉะเชิงเทรา เพื่อจะได้เห็นการวางระบบต่าง ๆ ตามแนวทฤษฎีและนำไปประยุกต์ใช้กับตนเอง โครงการที่ได้รับความร่วมมือจากทุกส่วนราชการ โดยมีกำลังพลในกองพลทหารราบที่ ๑๑ เป็นคณะทำงานเพื่อจะสร้างตัวอย่างให้เห็นความเป็นไปได้ โครงการต้องมีการปรับปรุงทั้งระบบการจัดการการปรับปรุงผลผลิต และการประชาสัมพันธ์ที่ต่อเนื่อง จึงต้องเป็นภาระที่สำคัญของกำลังพลทุกคน ที่จะทำงานเป็นตัวอย่างให้คนไทยเห็นความเป็นไปได้ของการจัดการเกษตรกรรมระบบ ใหม่ และนำเอาไปทดลองทำให้ขยายวงกว้างขึ้นในทุกพื้นที่ของจังหวัดฉะเชิงเทรา


ขาวดอกมะลิ : ข้าวหอมชื่อดังของบางคล้า
ผศ.ชาญ มงคล

        บางคล้า เป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดฉะเชิงเทรา ที่มีการปลูกข้าวหอมมะลิ ซึ่งทางราชการเรียกว่า ข้าวขาวดอกมะลิ มาตั้งแต่ต้นประมาณกว่า ๕๐ ปีที่แล้วมา ทำให้มีชื่อเสียงโด่งดังในเรื่องข้าวหอมบางคล้า ข้าวพันธุ์ขาวดอกมะลิ มิได้มีแหล่งกำเนิดที่อำเภอบางคล้ามาตั้งแต่แรก ได้มีผู้นำมาจากอำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี บริเวณด้านที่ติดกับตำบลแหลมประดู่ อำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา ในราวปี ๒๔๘๘

        ในปี พ.ศ. ๒๔๙๓ กรมการข้าวกระทรวงเกษตรได้รื้อฟื้นการเก็บรวบรวมพันธุ์ข้าวเพื่อคัดเลือกหา พันธุ์ดี จึงได้มอบหมายให้พนักงานข้าวอำเภอทั่วประเทศ รวบรวมพันธุ์ข้าวเพื่อส่งไปยังส่วนกลาง พนักงานข้าวอำเภอบางคล้าขณะนั้นคือ คุณสุนทร สีหะเนินได้เก็บตัวอย่างข้าวส่งไปยังส่วนกลางหลายครั้ง แต่ละครั้งเก็บส่งไปจำนวนหลายพันธุ์จากอำเภอบางคล้า ครั้งแรกส่งไปในปี พ.ศ. ๒๔๙๗ ปรากฏว่าข้าวรวมที่ ๑๐๕ จากจำนวน ๑๙๙ รวง ที่ส่งไปจากอำเภอบางคล้านั้นผ่านการตัดเลือกกรรมการได้พิจารณา เมื่อ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๐๒ ให้ข้าวพันธุ์ “ดอกมะลิ” ที่มาจากรวงที่ ๑๐๕ เป็นข้าวพันธุ์ดีและให้ชื่อว่า “ข้าวดอกมะลิ ๔ – ๒ – ๑๐๕” เพื่อให้สะดวกต่อการเรียกจึงเรียกสั้น ๆ ว่า “ข้าวดอกมะลิ ๑๐๕” ข้าวพันธุ์ขาวดอกมะลิ ๑๐๕ เป็นข้าวไวแสง ปลูกได้ฤดูเดียว (นาปี) ออกดอกประมาณวันที่ ๒๐ – ๒๕ ตุลาคม และหลังจากนั้นประมาณ ๑ เดือน ก็จะเก็บเกี่ยวได้ ต้นสูง ๑๔๐ – ๑๕๐ เซนติเมตร เปลืองข้าวมีสีฟาง เมล็ดเรียว-ยาว ปลายเมล็ดโค้งเล็กน้อย ข้าวกล้องใส มีความเลื่อมมัน จมูกเล็ก ซึ่งเป็นลักษณะที่ดีของข้าวสาร เจริญเติบโตได้ดีในนาดอนทั่วไป ทนทานต่อสภาพแห้งแล้ง สามารเจริญเติบโตในดินเปรี้ยวและดินเค็มได้ดี ข้าวสารเมื่อหุงสุกแล้วมีลักษณะเหนียวนุ่ม มีกลิ่นหอม ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งเป็นที่นิยมของผู้บริโภค

เลี้ยงกุ้งกุลาดำระบบน้ำหมุนเวียน ปีละครั้งอย่างได้ผลที่ฉะเชิงเทรา
กำนันประจักษ์ เอี่ยมศิริ

        การ เลี้ยงกุ้งกุลาดำ โดยระบบหมุนเวียนกำลังเป็นที่นิยมกัน ในปัจจุบันนี้ เพราะวาการเลี้ยงกุ้งระบบนี้มีผลกระทบต่อพื้นที่ข้างเคียงน้อยที่สุดอย่าง น้ำที่เลี้ยงกุ้งก็ไม่จำเป็นต้องปล่อยทิ้งสมารถนำมาใช้ได้อีก แต่การเลี้ยงกุ้งด้วยระบบนี้นั้นใช่ว่าเกษตรกรทุกคนจะเลี้ยงแล้วประสบความ สำเร็จทุกราย ต้องอาศัยเทคนิคและปัจจัยหลายอย่างเข้ามาช่วย
ไม่ ว่าจะเป็นเรื่องคุณภาพลูกกุ้ง การเตรียมบ่อ การให้อาหาร การปรับสีน้ำ และสภาพแวดล้อมต่าง ๆ มาเกี่ยวข้องด้วยเช่นกัน ซึ่งการเลี้ยงกุ้งระบบนี้สามาารถนำไปเลี้ยได้ในเกือบทุกพื้นที่โดยเฉพาะ พื้นที่ในเขตน้ำจืด อย่างเช่นอำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา และเกษตรกรตัวอย่างที่เลี้ยงกุ้งกุลาดำด้วยระบบหมุนเวียนที่ประสบความสำเร็จ มานานหลายปี คือ กำนันประจักษ์ เอี่ยมศิริ ๑๐๑/๑๒ ม. ๖ ตำบลหัวไทร อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา โทร. (๐๓๘)๕๒๗–๑๖๔, ๕๒๗–๒๕๙

        เป็น เวลากว่า ๑๐ ปีมาแล้วที่เกษตรกรท่านนี้ได้ทุ่มหมดหน้าที่ตักเลี้ยงกุ้งในพื้นที่กว่า ๒๐๐ ไร่ มีล่อเลี้ยงกุ้ง ๒๐ บ่อ ขนาดบ่อตั้งแต่ ๓ ไร่ขึ้นไป มีการแบ่งเป็นพื้นที่กักเก็บน้ำ และขุดร่องน้ำในพื้นที่รอบนอกอีกชั้น เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำที่เลี้ยงกุ้งนั้นไปกระทบต่อพื้นที่ทำนาในละแวกใกล้ เคียง “เรา อยู่อย่างผาสุก ข้าวก็ออกรวงสบาย ๆ น้ำที่เลี้ยงมีคูกั้นรอบนอก ระบบบ่อพักก็ใช้ปลามากำจัดน้ำเสีย ช่วงแรกปล่อยแม่ปลานิลเพื่อให้วางไข่ และฟักเป็นลูกปลา แล้วจึงปล่อยแม่ปลานิลจะกลายเป็นอาหารปลากะพง ปลากะพงจะมีหน้าที่ดีมากในการหมุนเวียนน้ำใช้ประโยชน์ ตอนแรกเราเคยทดลอง เคยปลูกข้าวในบ่อพักน้ำมันก็งามใช้ได้ แต่ปลูกข้าวมันมีข้อเสียคือต้องใช้เวลานานเป็นเวลาอย่างน้อย ๖ เดือน บางทีเราพักบ่อแค่ ๔ – ๕ เดือนก็เลี้ยงกุ้งแล้ว

        ส่วนการเตรียมบ่อเลี้ยงนั้น กำนั้นประจักษ์จะเตรียมบ่อโดยการตากบ่อเลี้ยงประมาณ ๔ – ๕ เดือน เพื่อการฆ่าเชื้อโรคต่าง ๆ ในบ่อ หลังจากนั้นจึงลงปูนขาวแล้วปล่อยน้ำเข้าไปในบ่อเลี้ยงมีการกรองน้ำผ่าน ตะแกรงเพื่อไม่ให้ปลาหรือสัตว์อื่น ๆ เข้ามาในบ่อเลี้ยงกุ้ง หลังจากนั้นจึงมีการตรวจวัดคุณภาพน้ำ PH ไม่ต่ำกว่า ๗.๙ อัลคัลไลนิตี้ ให้อยู่ในระดับไม่ต่ำกว่า ๑๐๐ และมีการปล่อยน้ำเค็มในมุมบ่อที่กั้นด้วยผ้าให้อยู่ในระดับ ๕–๑๐ ppt แล้ว จึงปล่อยกุ้งพี ๑๕ ลงในมุมบ่อที่กั้นไว้ ทำให้น้ำหมุนวนไปเรื่อย ๆ ในวันที่ ๔ ที่ลงกุ้ง วนน้ำประมาณ ๑๐ วันจึงหยุด เพื่อให้กุ้งกุลาดำปรับสภาพได้ระหว่างน้ำในบ่อเลี้ยงและน้ำในมุมบ่อที่กั้น เมื่อกุ้งปรับสภาพได้แล้วก็ปล่อยลงบ่อเลี้ยงได้
สำหรับอัตราการปล่อยกุ้งเขาจะปล่อยกุ้งอัตรา ๕ – ๗ หมื่นตัวต่อไร่ หรือประมาณ ๒ แสน ๕ หมื่นตัว ต่อ ๓ ไร่เศษ การปล่อยกุ้งอัตรานี้เขาบอกว่าปานกลางไม่หนาแน่นเกินไปและก็ไม่บางเพราะถ้า กุ้งติดดีนับว่าหนาแนถ้าติดน้อยก็บาง แต่ไซซ์กุ้งจะมีขนาดใหญ่ขึ้นนั้นเอง

        เครื่องตีน้ำที่วางในบ่อเลี้ยงเขาจะวาง ๔ – ๕ แขนในบ่อขนาด ๓ ไร่ โดยใช้เครื่องยนต์ขนาดใหญ่ ๒ เครื่อง “ผม ใช้เครื่องตีน้ำอย่างเดียวในการให้ออกซิเจน อย่างอื่นผมก็ไม่ได้ใช้โอโซนก็ไม่ได้ใช้ เพราะว่าการใช้เครื่องตีน้ำตรงนี้ดีกับเวลากุ้งต้องการออกซิเจนก็สามารถเปิด เครื่องตีน้ำได้ และหากน้ำมีคุณภาพดีก็หยุดเครื่องตีน้ำได้ การเปิดเครื่องผมจะเปิดอย่างน้อย ๒ – ๓ ชั่วโมงต่อวัน” กำ นั้นประจักษ์ ให้เหตุผลหลังจากที่ลงกุ้งแล้วก็ถึงขั้นตอนการให้อาหาร การให้อาหารกำนันประจักษ์จะให้ ๔ เวลา คือ ช่วงเช้า กลางวัน บ่าย และช่วงดึก สำหรับประมาณที่ให้เขาจะให้ปริมาณ ๑ กิโลกรัม ต่อ กุ้ง ๑ แสนตัวต่อวัน “FCR ผมเคยทำได้ระหว่าง ๑.๑ – ๑.๕ ล่าสุด คือ ดีสุด ๑.๑ ขึ้นอยู่กับอาหาร กาลเวลาเป็นตัวประกอบหลายเรื่อง ถ้าเป็นหน้าหนาว FCR จะดีขึ้น” กำนันประจักษ์กล่าว

        นอก จากนี้เขายังเสริมจุลินทรย์และวิตามินอีกเพื่อให้กุ้งมีความแข็งแรงและเจริญ เตบโต การใช้จุลินทรีย์และวามินจะให้เฉพาะช่วงที่จำเป็นเท่านั้นและอาศัยจังหวะ ปัจจัยหลายอย่างด้วย
“จริง ๆ แล้วการเลี้ยงกุ้งมันไม่มีความแน่นอน ไม่มีสูตรที่แน่นอน มันไม่มีกติกา มันขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง จัดการดีบางทีไม่ผ่านก็มี บางช่วงฤดูกาลมันดีไม่ต้องทำอะไรมาก ยาฆ่าเชื้อแทบไม่ต้องใส่ ตอนหลังมาเน้นจุลทรีย์เป็นหลักอยู่” กำนันประจักษ์กล่าว

        สำหรับ การเลี้ยงด้วยระบบนี้เขาใช้เวลาในการเลี้ยงประมาณ ๓ เดือนครึ่ง ถึง ๔ เดือน ก็สามารถจับกุ้งขายได้ ไซซ์กุ้งที่จับระหว่าง ๔๐–๗๐ ตัวมีหลายขนาดแล้วแต่ความหนาแน่นของกุ้งที่ปล่อยลงในแต่ละบ่อ และเขาให้เหตุผลที่กุ้งแตกไซซ์นั้นเนื่องจากการซื้อลูกกุ้งจากแหล่งเพาะ พันธุ์ที่มีขนาดไม่เท่ากันตั้งแต่ซื้อมา การแก้ปัญหากำนันประจักษ์จะเลือกลูกกุ้งจากแหล่งที่เชื้อถือได้ และมีการตรวจลูกกุ้งด้วยเครื่อง พี ซี อาร์ การตรวจด้วยเครื่อง พี ซี อาร์ นั้นเขาจะตรวจเกี่ยวกับโรคและความผิดปกติของกุ้งว่ามีหรือไม่ เขาให้เหตุผลว่า เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจในการเลี้ยงอีกทางหนึ่ง

        เมื่อ เลี้ยงกุ้งไปถึงเวลาที่จับกุ้งเขาก็จะให้แพต่าง ๆ มาประมูลการจับกุ้ง โดยแพแห่งไหนให้ราคาที่สูงสุดก็จะให้แพนั้นมาจับกุ้งได้ และเมื่อคร็อปแรกของปีนี้ระหว่างของช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา เขาว่าเมื่อจับกุ้งไปแล้วจะเสมอตัวไม่ได้กำไร ส่วนในคร็อปที่เลี้ยงในปัจจุบันเขาบอกว่าน่าจะได้กว่า ๔๐ ตัน ในแต่ละชุด เพราะเขาไม่ได้ลงกุ้งหมดทุกบ่อมีการทยอยลงเลี้ยงเป็นชุด ห่างกันประมาณ ๑ เดือน และในคร็อปนี้เขาบอกว่าน่าจะได้กำไร เนื่องจากกุ้งกินอาหารได้มาก และกุ้งที่เลี้ยงไม่มีปัญหาเรื่องโรคต่าง ๆ มารบกวน

        นอก จากนี้ กำนันประจักษ์ยังกล่าถึงเรื่องการที่รัฐบาลได้ออกกฎหมายเกี่ยวกับการเลี้ยง กุ้งในมาตรา ๙ ที่ห้ามเกษตรกรเลี้ยงกุ้งในเขตน้ำจืด เพราะจะทำให้กระทบต่อสภาพแวดล้อมและความเค็มของน้ำ อาจจะกระจายไปในดินบริเวณใกล้เคียงได้

“เรา พูดกันตรงนี้จริง ๆ แล้วอาชีพทุกอย่างมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทั้งนั้น ไม่ว่าอุตสาหกรรม เกษตรกรรม ถ้าทุกอย่างไม่ดูแลแก้ไข กระทบทุกส่วน ตอนนี้เรากำลังแก้ไขกันอยู่ โดยการให้เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง ทุกคนในอำเภอบางคล้ามาจดทะเบียน เพื่อดูว่าเกษตรกรที่จดทะเบียนสามารถเข้ากับระบบที่เรากำหนดได้หรือเปล่า โดยกำหนดไว้ว่าผู้เลี้ยงกุ้งรายใหญ่ต้องมีพื้นที่เก็บกักน้ำ ๓๐ % พื้นที่เลี้ยง ๗๐ % ส่วนผู้เลี้ยงกุ้งรายย่อยตั้งแต่ ๑๐ ไร่ลงมาให้มีพื้นที่กักเก็บน้ำ ๕๐ % พื้นที่เลี้ยง ๕๐ % หรือครึ่งต่อครึ่ง เราได้วางรูปแบบกันอย่างนั้น”

        ใน ขณะทีหน่วยงานภาครัฐ กำลังศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบของการเลี้ยงกุ้งในเขตน้ำจืด หน่วยงานที่เข้ามาศึกษาได้แก่ กรมพัฒนาที่ดิน กรมประมง และกรมควบคุมมลพิษ และกำนันประจักษ์ยังให้ข้อคิดเกี่ยวกับการศึกษาของราชการ ทั้ง ๓ หน่วยงานว่า ควรมีการศึกษา จากพื้นที่หลายพื้นเพื่อนำเอามาประกอบกัน ไม่ควรจะศึกษาพื้นที่เดียวซึ่งตอนนี้หน่วยงานทั้ง ๓ ต่างศึกษาแต่ผลการศึกษายังไม่ปรากฏออกมาทำให้เกษตรที่เลี้ยงกุ้ง ในบริเวณที่ยังหาความแน่นอนไม่ได้ ว่าปี พ.ศ. ๒๕๔๔ ที่รัฐบาลผ่อนผันเลี้ยงได้นั้น ปีต่อไปเกษตรกรจะสามารถเลี้ยงกุ้งได้หรือไม่


แหล่งท่องเที่ยว

ล่องลำน้ำบางปะกง
        อำเภอ บางคล้ามีพื้นที่เลียบฝั่งแม่น้ำบางปะกง ทำให้มีทัศนียภาพร่มรื่นสบายตา สองฝั่งนอกเหนือจากที่ตั้งอำเภอ แล้วก็จะเป็นสวนและป่าจากเขียวขจี คนต่างถิ่น นิยมเที่ยวชมลำน้ำ ถ้ามีเวลาน้อยจะเช่าเรือหางยาวที่ท่าน้ำในตลาดนั่งชมเกาะลัดซึ่งอยู่ตรงข้าม ที่ว่าการอำเภอใช้เวลาชมทัศนียภาพไม่ถึง ๑ ชั่วโมง ก็จะรอบเกาะ แต่เรือหางยาวมีเสียเครื่องยนต์ดังรบกวนมาก ผู้ที่มีเวลามากจึงมีทางเลือกใช้บริการจากเรือสำราญ ซึ่งจอดที่ท่าน้ำที่ว่าการอำเภอ โดยเรือสำราญจะแล่นไปช้า ๆ ค่าเรือประมาณ ๑๐๐ บาท ซึ่งมีอาหารบริการตามสั่ง ราคาไม่แพง จะออกตอนเย็นเพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ชมทัศนียภาพสองฝั่งน้ำยามอาทิตย์อัสดง ตามเนื้อร้องเพลง “บางประกง” ที่ว่า ฝั่งชายน้ำบางปะกง ยามแสงอาทิตย์อัสดงใกล้ค่ำลงแล้วหนา แต่บางปะกงนั้นยังคงสวยงามตา คราใกล้สนธยายิ่งพาให้เราสุขสันต์…” นัก ท่องเที่ยวจะได้เห็นว่าเนื้อร้อง ข้างต้นนั้นสมจริงทุกประการ แม้จะมีเวลาอยู่ในเรือเพียงประมาณ ๑ ชั่วโมง แต่ภาพลำน้ำบางปะกงคงจะตราตรึงในความทรงจำไปตราบนานเท่านาน

เกาะลัด
        ดัง ได้กล่าวแล้วว่าเกาะลัดตั้งอยู่ตรงข้ามที่ว่าการอำเภอบางคล้า ตัวเกาะมีแม่น้ำบางปะกงล้อมรอบ บนเกาะเป็นพื้นที่สวน ส่วนใหญ่จะเป็นสวนหมาก สวนมะม่วง แต่ก็มีไม้อื่นปลูกแซมอยู่บ้าง เช่น มังคุด มะไฟ พลู เป็นต้น ถ้านั่งเรือชมทิวทัศน์จะเห็นป่าจากเขียวเป็นแนวยาวสลับกับบ้านคนที่จะมี สะพานท่าน้ำ (ชาวบ้านเรียกว่าตีนท่า) กัน ทุกบ้าน เนื่องจากเกาะนี้จะไปได้ทางเรือเท่านั้น จึงต้องทำท่าไว้ขึ้นลง นอกจากทิวจากสลับตีนท่าแล้ว นักท่องเที่ยวจะได้เห็นบ้านของนักการเมือง พลตรีสนั่น ขจรประศาสน์ ด้วย ถ้ามีเวลาจะขึ้นชมสวน ชาวสินก็จะยินดี โดยเฉพาะฤดูที่มีมะม่วงแก่ ในราวเดือน มีนาคม เมษายน นักท่องเที่ยวก็จะได้ลิ้มรสมะม่วงบางคล้าที่ขึ้นชื่อว่าเป็นของ “ของดีบางคล้า” จนเต็มอิ่มลิ้มรสแล้วไม่รู้เลือนจนต้องกลับมาเยือนบางคล้าอีกเป็นแน่

ค้างคาววัดโพธิ์

      ค้าง คาววัดโพธิ์ตัวโตเท่าแม่ไก่ ผู้อ่านคงไม่นึกว่า ที่วัดโพธิ์ซึ่งห่างจากตัวตลาด บางคล้าเพียง ๑ กิโลเมตร จะมีฝูงค้างคาวเกาะห้อยหัวอยู่เต็มต้นไม้ในบริเวณวัดริมแม่น้ำบางปะกง ค้างคาวชนิดนี้ คือ ค้างคาวแม่ไก่ อยู่ที่วัดมาเป็นเวลานานเท่าไรไม่มีใครทราบ สอบถามจากผู้เฒ่าอายุเกิน ๘๐ ปีขึ้นไป ต่างก็พากันบอกว่าเห็นค้างคาวมาแต่จำความได้ แม้ผู้เขียนเอง เกิดมาว่า ๕๐  ปีแล้ว ก็เห็นค้างคาวเหมือนอย่างที่ว่าเช่นกัน

      ธรรมชาติ ของค้างคาวจะนอนกลางวัน ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีนักท่องเที่ยวจะเห็นต้นไม้ที่ค้างคาวเกาะแทบจะมีจำนวน มากกว่าใบไม้เสียอีก เพราะเป็นสีดำเต็มไปหมด แต่ถ้าจะดูฝูงค้างคาวบินว่อนออกหากิน ต้องมาดูตอนโพล้เพล้ ค้างคาวจะขยับปีกตื่นนอนและบินว่อนรอบ ๆ วัดราวกับการปลุกตัวที่ยังไม่ตื่น ให้ลุกขึ้นเตรียมออกไปหากินพร้อม ๆ กัน ไม่เกิน ๒๐ นาที ทุกตัวพากันออกมาบินวนรอบ ๆ ส่งเสียดัง แล้วหันหน้าพุ่งตัวบินเป็นสายออกจากวัด ซึ่งไม่มีใครตอบได้ว่าค้างคาวเหล่านั้นบินไปไหนกัน แต่ที่แน่ ๆ ก็ไม่เคยมีชาวสวนบางคล้าคนใด บ่นว่าค้างคาวไปทำลายพืชผลในสวนของเขาเลย

พระสถูปเจดีย์
        พระสถูปเจดีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชตั้งอยู่ปากน้ำโจ้โล้ (มุมที่คลองท่าลาดไหลมาบรรจบ แม่น้ำบางปะกง) ห่าง จากที่ว่าการอำเภอ บางคล้าประมาณ ๑ กิโลเมตร นักท่องเที่ยวที่ขึ้นรถมาเอสามารถนำรถไปจอดใกล้พระสถูปได้ แต่ถ้าไปเวลากลางวันที่มีแดดจัด ต้องเตรียมหมวกหรือร่มไปด้วย เพราะบริเวณลานพระสถูปยังมีต้นไม้ไม่มากนัก
        นอก จากกจะได้นมัสการและรำลึกถึงพระวีรกรมของสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ เสด็จนำทัพมาบริเวณนี้แล้ว นักท่องเที่ยวยังจะได้ชมความงามของธรรมชาติฝั่งตรงข้ามรับสายลมเย็นจากแม่ น้ำปางปะกง สูดอากาศบริสุทธิ์ ผสมกับเสียงเรือเครื่อง ซึ่งเป็นวิถีชีวิตของชาวบ้านริมน้ำอีกด้วย

ตลาดบางคล้า
        ตลาดบางคล้าเป็นตลาดที่เข้าลักษณะ “เศรษฐกิจพอเพียง” ผู้ คนไม่พลุกพล่านนักแม่ค้าขายของในราคายุติธรรม หลายคนพูดเป็นเสียงเดียวกันอย่างนี้ข้อยืนยันจะเห็นได้จากคนที่อื่นยังมา ซื้อของที่นี่ไปใช้และไปขาย ตัวตลาดตั้งเลียบชายฝั่งบางปะกง มีถนนสายเอกคือ “ถนนไพบูลย์วัฒนา” มี ร้านค้าจำนวนมากตั้งอยู่รายเรียง บรรยากาศของตลาดค่อนข้างจะสงบ จนอาจจะแลดูเงียบเหงาโดยเฉพาะช่วงเวลาบ่ายจะไม่ค่อยมีลูกค้า แต่ชาวตลาดก็ยังมีความพอใจที่จะอยู่ทำมาหากิน โดยเฉพาะผู้สูงอายุจะชอบมาก บอกว่าอยู่ที่นี่ สบายดี บรรยากาศเงียบสงบ พอมี พอกิน ค่าครองชีพก็ยังถูกอีกด้วย ที่ตลาดบางคล้านี้ นักท่องเที่ยวนิยมมาซื้อของฝาก เช่น ขนมเปี๊ยะ แฮกึ้น มะม่วง ข้าวขาวมะลิ ซึ่งล้านแล้วแต่เป็นของดีของบางคล้าทั้งนี้ ผู้มาเยือนแนใจว่าของที่ซื้อเป็นของแท้จากแหล่งนี้จริง


บุคคลสำคัญ คนดีศรีบางคล้า

พระครูสุตาลงกต
        พระครูสุตาลงกต หรือ ต่วน แพน้อย เป็นบุตรของนายเรื่อง นางพวง แพน้อย เกิดวันที่ ๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๓๙ ณ บ้านเลขที่ ๑ หมู่ที่ ๑ ตำบลท่าทองหลาง อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา อุปสมบทเมื่ออายุ ๒๑ ปี มรณภาพเมื่อวันที่ ๒๓ เมษายน ๒๕๐๙

        พระครูสุตาลงกต เป็นผู้นำชาวบ้านสร้างพระอุโบสถวัดโพธิ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๒ และสร้างโรงเรียนเทศบางวัดโพธิ์ โรงเรียนมัธยมบางคล้า ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนสุตะบำรุงพิทยาคาร (เป็นโรงเรียนเอกชนของนายวินท์ ตะเภาทอง รองผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรานายเจตน์ ธนวัฒน์ ) และผุ้บัญชาการกองพลทหารราบที่ ๑๑ ค่ายสมเด็จพระนั่งเกล้า (พลตรีบุญสืบ คชรัตน์) ก็จบการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาจากโรงเรียนสุตุบำรุงพิทยาคารนี้ด้วย

        นอกจากด้านศาสนาและด้านการศึกษาแล้ว พระครูสุตาลงกตยังมีความเมตตาต่อ บรรสัตว์บริเวณวัด จะเห็นได้จากค้างคาวแม่ไห่ที่อาศัยอยู่บนต้นไม้รอบ ๆ วัด ทำให้วัดโพธิ์บางคล้ากลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่นิยมของคนต่างถิ่น เรื่องแปลกเกี่ยวกับค้างคาวที่อาศัยอยู่ในบริเวณวัดเกิดขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๙๘ ที่มีการฝังลูกนิมิต ปรากฏว่าค้างคาวได้บินไปจากวัดนานถึง ๗ วัน เมื่องานเสร็จแล้ว ค้างคาวจึงบินกลับมาอาศัยอยู่ดังเดิม และเมื่อพระครูสุตาลงกต มรณภาพเมื่อวันที่ ๒๒ เมษายน พ.ศ. ๒๕๐๙ ค้างคาวได้ตกลงมาตายเป็นจำนวนมากมายราวกับค้างคาวสามารถรับรู้ได้ ปัจจุบันวัดโพธิ์ยังมีค้างคาวอาศัยอยู่มากเป็นสิ่งดึงดูดให้คนไปเที่ยวอยู่ เสมอ

พระครูบริรักษ์วรเขต (ชิต กันตสโล)

      พระ ครูบริรักษ์วรเขต เป็นบุตรของนายหลำ นางสวรรค์ โกศิริ เกิดมื่อวันที่ ๒๑ มิถุนายน ๒๔๕๗ ณ หมู่ ๑ ตำบลเสม็ดเหนือ อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา อุปสมบทวันที่ ๕ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑

      ปี พ.ศ. ๒๔๘๒ ท่านสอบไล่ได้นักธรรมเป็นเจ้าอาวางวัดเสม็ดเหนือ พ.ศ. ๒๕๐๖ เป็นพระครูสัญญาบัตร เจ้าบัตร เจ้าคณะตำบลชั้นโท ตำบลเสม็ดเหนือ พ.ศ. ๒๕๓๐ เป็นพระคูสัญญาบัตร เจ้าคณะอำเภอชั้นโท อำเภอบางคล้า และ พ.ศ. ๒๕๓๓ เป็นพระครูสัญญาบัตร เจ้าคณะอำเภอชั้นเอก อำเภอบางคล้า

      ท่าน เป็นผุ้จัดตั้งสถานศึกษาก่อนวัยเรียนให้แก่ลูกหลายของชาวบ้านเสม็ดเหนือ แล้วจัดตั้งกองทุนการศึกษาแก่นักเรียนที่ผู้ปกครองมีรายได้น้อย ๒ โรง คือโรงเรียนวัดเสม็ดเหนือ และโรงเรียนวัดสนามช้าง สร้างอุปกรณ์การเรียน การกีฬา สร้างห้องสุขา ปรับปรุงสนามกีฬาของโรงเรียนและร่วมกับชาวบ้านทำถนน ขุดสระน้ำ สร้างถังน้ำประปาหมู่บ้าน

      พระครูบริรักษ์วรเขต มรณภาพเมื่อวันที่ ๑๑ กันยายน ๒๕๔ฤ สิริรวมอายุได้ ๘๓ พรรษา

หลวงพ่อเชิด

      หลวงพ่อเชิด เกิดเมื่อวันที่ ๒๖ กันยายน พ.ศ. ๒๔๓๓ อุปสมบท พ.ศ. ๒๔๕๔ เป็นเจ้าอาวาสวัดลาดบัวขาว พ.ษ. ๒๔๖๗ และเป็นประครูชั้นประทวน พ.ศ.๒๔๘๗ หลวงพ่อเชิดชอบออกธุดงค์ ระหว่างออกธุดงค์ หลวงพ่อเชิดได้ศึกษาวิชาอาคมกับหลวงพ่อคงวัดชำป่างาม พร้อมทั้งได้ร่ำเรียนกับหลวงพ่อรอดวัดคลองเชื่นซึ่งเป็นอุปชฌาของท่านเองจน จบคงกระพันชาตรี พัดโบก

      พ.ศ. ๒๔๖๗ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวางวัดลาดบัวขาว หลัวงพ่อเชิดได้ชักชวนชาวบ้านให้บูรณะวัดจนสวยงามไม่แพ้วัดในเมือง

      พ.ศ. ๒๔๘๗ สมเด็จพระสังฆราชสกุลสังฆปริยายก (แพ ติสสเทโว) วัด สุทัศน์เทพวราราม กรุงเทพมหานคร ได้ถวายพระไตรปิฎกพร้อมคัมภีร์ เพราะทึ่งในจริยาวัดของหลวงพ่อ โดยมีพระบัญชาให้นำมาทางเครื่องบิน เนื่องจากวัดลางบัวขาวอยู่ในป่า

      หลวง พ่อเชิดยังคงเดินธุดงค์อยู่แม้จะเป็นเจ้าอาวาสแล้ว และจะกลับมาที่วัดตอนเข้าพรรษาพอออกพรรษาก็จะออกธุดงค์อีก หลวงพ่อเชิดมรณภาพ เมื่อวันที่ ๑๑พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๐๐

พระครูสุวรรณศิลาจารย์ (หลวงพ่อทอง)

      พระครูสุวรรณศิลาจารย์ หรือหลวงพ่อทอง เดิมชื่อทอง เนรมิต เกิดวันที่ ๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๓๘ หลวงพ่อทองอุปสมบทที่วัดจุกเฌอ เมื่ออายุ ๒๙ ปี พ.ศ. ๒๔๖๘ ได้นามฉายาว่า คงครตโน เป็นเจ้าอาวางวัดก้อนแก้ว ใน พ.ศ. ๒๔๗๗ และ มรณภาพเมื่อายุ ๙๒ ปี ใน พ.ศ. ๒๕๒๖

      หลวดพ่อทองเป็นพระเกจิอาจารย์ มีความสามารถด้านกรรมฐานและวิปัสนาออกธุดงค์เป็นเวลาว่า ๒๐ ปี และมีความรู้ทางอักขระของ -ไทย – บาลี และมีวิชาลงกระหม่อม

      พ.ศ. ๒๔๗๗ หลวงพ่อทองได้รับตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดก้อนแล้วต่อมา พ.ศ. ๒๕๑๐ได้รับตำแหน่งเป็นพระครูชั้นประทวน และ พ.ศ. ๒๕๑๙ ได้รับสมณศักดิ์เป็นพระครูสุวรรณศิลาจารย์ แปลว่า ผู้มีศีลบริสุทธิ์ดังทอง

      หลวง พ่อทองเป็นพระนักพัฒนา เมื่อมาอยู่วัดก้อนแก้วได้สร้าง อุโบสถ สร้างกุฏิ ทำถนนเข้าวัด การที่หลวงพ่อสามารถสร้างถาวรวัตถุให้วัดได้มากก็เนื่องจากผู้ศรัทธาในการ ปฏิบัติดีปฏิบัติของของหลวงพ่อจึงให้ความร่วมมือร่วมใจสละกำลังกายกำลัง ทรัพย์สมทบจนสร้างวัดก้อนแก้วจนรุ่งเรืองถึงปัจจุบัน

หลวงพ่อเงิน

      หลวงพ่อเงิน เกิดวันที่ ๑๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๔๐ เป็นบุตรนาย ขุนทอง และนางจาง มิ่งเมืองมาด อุปสมบท ณ วัดปากน้ำ อำเภอบางคล้า เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๑ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเข้าอาวางวัดกกสับ พ.ศ. ๒๔๙๖ และ พ.ศ. ๒๕๐๘ ได้สมณศักดิ์เป็นพระครูเงิน หลวงพ่อเงินเป็นผู้มีความรู้ใ            นเชิงช่าง จะเห็นจากการออกแบบกุฏิ ซุ้มประตู หอสวดมนต์ พระอุโบสถของวัดกกสับ ซึ่งต่อมาเกิดไฟไหม้สิ่งก่อสร้างที่หลวงพ่อเงินได้ทำไว้ เหลือเพียงพระอุโบสถเท่านั้นที่อยู่จึงถึงปัจจุบัน

      หลวง พ่อเงินเป็นพระนักพัฒนาที่ขยันขันแข็ง แม้ยามอาพาธก็ไม่ละงาน ทำให้สุขภาพทรุดโทรมอย่างหนักจนต้องนำส่งไปรักษาที่โรงพยาบาลสงฆ์ กรุงเทพฯ

      หลวงพ่อได้มรณภาพ เมื่อวันที่ ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๐๘ สิริอายุได้ ๖๘ ปี ๓๗ พรรษา

พระครูธรรมทีปาจารย์ (พระมหาสง่า)

       พระครูธรรมทีปาจารย์ เป็นบุตรของนายธรรม นางเจ๊ก วัฒนานนท์ เกิดเมื่อวันที่ ๒๓ มกราคม พ.ศ. ๒๔๖๖ ณ หมู่ ๑ ตำบลหัวไทร (คูมอญ) อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา อุปสมบทวันที่ ๑๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๘ ณ วัดเทพศิรินทร์ อำเภอป้องปราบ จังหวัดพระนคร ท่านสอบได้นักธรรมตรี พ.ศ. ๒๔๖๘ นักธรรมโท พ.ศ. ๒๔๘๐ นักธรรมเอก พ.ศ. ๒๔๘๑ เปรียญธรรมประโยค ๓ พ.ศ. ๒๔๘๕ และสอบได้เปรียบธรรมประโยค ๔ พ.ศ. ๒๔๘๖ ปี พ.ศ. ๒๔๙๑ ท่านได้สมณศักดิ์ เป็นประอาจารย์สอนนักธรรมและภาษีบาลี พ.ศ. ๒๕๑๓ ปี พ.ศ. ๒๕๓๒ ได้เป็นพระครูชั้นโท และ พ.ศ. ๒๕๓๘ ได้เป็นพระครูชั้นเอก ปี พ.ศ. ๒๕๑๑ ท่านเป็นผุ้นำชาวบ้านสร้างอาคารโรงเรียนวัดหัวไทร พ.ศ. ๒๕๑๓ นำชาวบ้านสร้างอาคารโรงเรียนวัดหัวโทรหลังที่ ๒ พ.ศ. ๒๕๑๔ กราบบังคมทูลอัญเชิญสมเด็จพระบาทสมด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินีร นาถทรงเปิดอาคารเรียน และทรงตัดลูกนิมิตอุโบสถวัดหัวไทร และ พ.ศ. ๒๕๑๙ ก็ขออนุญาตตั้งโรงเรียนมัธยมวัดเปี่ยมนิโครธารามติดต่อการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เดินสายจ่ายไฟจากตำบลปากน้ำไปยังตำบลหัวไทร สร้างทางสายหัวไทยไปวัดข้ามน้อย สร้างทางจากหัวไทรไปวัดน้ำฉ่า

พระครูประดิษฐ์สุตาคม

      พระครูประดิษฐ์สุตาคม เดิมชื่อถึก ศรีสุนทร ฉายาติสโส อดีตเข้าอาวาสวัดสนามช้าง และเจ้าคณะอำเภอบางคล้า พ.ศ. ๒๕๐๙ เกิดเมื่อวันที่ ๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๖๖

      พระ ครูประดิษฐ์สุตาคม เป็นผู้สนใจศึกษาท่านสามารถพูได้ถึง ๔ ภาษา คืน ไทย จีน แขมร และอังกฤษ เป็นผู้ใฝ่ใจสนับสนุนด้านการศึกษา ได้รับแต่งตั้งให้เป็นประธารอำนวยการสอบธรรมสนามหลวงของอำเภอบางคล้าตลอดมา และเป็นเจ้าสำนักเรียนปริยัติธรรมวัดสนามช้าง ส่งเสริมให้มีการบรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อย และสร้างโรงเรียนวัดสนามช้างด้วย

      สำหรับ งานสาธารณูปการพระครูเป็นผู้นำในการรวบรวทุนทรัพยืทำการก่อสร้างดบสถ์ กุฏิ หอสวดมนต์ ฯลฯ รวมทั้งสร้างถาวรวัตถุอื่น ๆ ให้วัดสนามช้างอีกมากมาย พระครูได้รับสมณศักดิ์จากพระครูชั้นประทวนใน พ.ศ. ๒๔๘๒ และเลื่อนสมณศักดิ์สูงขึ้นเรื่อย ๆ จนในปี พ.ศ. ๒๕๒๗ เป็นพระครูเจ้าคณะอำเภอชั้นพิเศษ

      พ.ศ. ๒๕๒๗ พระครูอาพาธด้วยโรคหัวใจเข้ารับการรักษาตัวในกรุงเทพฯ หลายครั้ง เมื่ออาการทุเลาม่านก็จะกลับวัด จนวันที่ ๑๙ เมษายน พ.ส. ๒๕๓๐  พระครูก็มรณภาพอย่างสงบที่วัดสนามช้าง

คุณยายเจียม เงี่ยมอื๊อ
        คุณยายเจียม เงี่ยมอื๊อ เกิดมื่อวัน พุธ ขึ้น ๑๑ ค่ำ เดือน ๗ ปีมะโรง ตรงกับ พ.ศ. ๒๔๑๑ ที่บ้านตำบลหัวโรง อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นบุตรของนายบุ๊น และนางซอ ศรีสวัสดิ์ เมื่อายุ ๒๐ ปี สมรสกับนายกิมท้ง แซ่อื๊อ แล้วย้ายมาอยู่ที่ตำบลบางคล้าทำอาชีค้าขขายข้าวเปลือก จนมีฐานะขึ้นคหบดี เป็นผู้ที่กอปรด้วยเมตตากรุณา ประกอบการกุศลเป็นนิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างสาธารณะถาวรวัตถุตามวัดต่าง ๆ เช่น ศาลาการเปรียญ ศาลาท่าน้ำ ถนน และเมรุวัดปากน้ำโจ้โล้ สร้างพระประธานโบสถ์วัดสำโรง ตำบลสำโรง สร้างโรงเรียนประชาบาลประจำอำเภอบางคล้า ชื่อ “โรงเรียนวัดแจ้งเจียมประชานุกุล” ปัจจุบันคือ โรงเรียนเทศบาล ๑ (วัดแจ้ง) และสร้างพระอุโบสถวัดแจ้ง ในปี พ.ศ. ๒๔๗๙ โดยมีนาสุจินต์ คณาวุฒิ ผู้บุตรเขยเป็นผู้ควบคุมการก่อสร้าง ได้ชื่อว่าเป็นอุโบสถที่งดงามที่สุดในภาคตะวันออก รวมทั้งองค์พระประธานพระพุทธชินราชจำลอง หน้าตักว้าง ๕ ศอกเศษ และกำแพงรายล้อมพระอุโบสถ สิ้นเงินไปกว่า ๗๐,๐๐๐ บาท ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๙๐ ได้สร้งศาลาการเปรียญที่วัดแจ้งแทนศาลาการเปรียญเก่าที่ชำรุดทรุดโทรม รวมทั้งถังน้ำคอนกรีตขนาดใหญ่ โรงครัว ถนน และสะพานท่าน้ำด้วย

        คุณ ยายเจียม สร้างความเจริญให้แก่ท้องถิ่นบางคล้า ให้เป็นที่เชิดหน้าชูตาแก่คนทั่วไป จึงได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์เบญจมาภรณ์มงกุฏไทย เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๐๖ เป็นเกียรติยศแก่คุณยายเจียมและวงศ์ตระกูลเป็นอย่างยิ่ง และในวันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๐๗ คุณยายจากบุตรหลานไปด้วยอาการอันสงบ สิริรวมอายุได้ ๙๗ ปี

นายเล้ง ศรีสมวงศ์

      นาย เล้ง ศรีสมวงศ์ เกิดวันที่ ๕ กันยายน ๒๔๔๓ เป็นบุตร นายสอน นางเชย ศรีสมวงศ์ ที่อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา ได้รับการศึกษาขึ้นต้นจากโรงเรียนวัดปากน้ำ วัดบ้านหมู่ และโรงเรียนวัดแจ้ง จากนั้นเข้าศึกษาที่กรุงเทพฯ โรงเรียนวัดเทพธิดาราม และจบ ม.๘ จากโรงเรียนสวนกุหลายวิทยาลัย ใน พ.ศ. ๒๔๖๐ และใน พ.ศ. ๒๔๖๔ได้รับทุนจากกรมรถไฟหลวงให้ไปศึกษาที่ประเทศอังกฤษ รับปริญญา B Com (ปริญญาตรีพาณิชยศาสตร์) แล้วกลับมารับราชการในกรมรถไฟ

        หน้าที่การงานที่สำคัญ

๒๔๖๔ เป็นครูประจำชั้นโรงเรียนเทพศิรินทร์

๒๔๘๘ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

๒๔๙๐ – ๒๔๙๒ เป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

ความ ภูมิใจและความพอใจในงาน นอกจากหน้าที่สำคัญดังกล่าว นายเล้งยังปฏิบัติงานอื่น ๆ อีกมาก งานที่พอใจและภูมิใจได้แก่งานตำแหน่งผู้จัดการธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด ระหว่าง พ.ศ. ๒๔๘๕ – ๒๔๘๗ เป็นสมาชิดวุฒิสภา พ.ศ. ๒๔๙๐ – ๒๔๙๒ พ.ศ. ๒๔๙๔ เป็นประธานกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทย เป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๐๒ – ๒๕๑๑ และเป็นผู้หนึ่งในคณะผู้เปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. ๑๔๗๕

        นายเล้ง ศรีสมวงศ์ ถึงแก่อนิจกรรม เมื่อวันที่ ๖ มีนาคม ๒๕๒๓ สิริรวมอายุได้ ๘๑ปี

นายชลอ วนะภูติ

      นายชลอ วนุภูติ เกิดวันที่ ๓๑ มีนาคม พ.ส. ๒๔๕๘ ที่ตำบลปากน้ำ อำเภอบางคล้า เป็นบุตรของนายวอน และนางจีบ วนะภูติ สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาจากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย พ.ศ.  ๒๔๗๑ สำเร็จการศึกษาระดับอุดมศึกษาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. ๒๔๗๖ มหาวิทยาลัยธรรมชาติและการเมือง พ.ศ. ๒๔๗๗ และใน พ.ศ. ๒๔๘๗ สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยมินิโซตา ประเทศสหรัฐอเมริกา รับราชการครั้งแรกเป็นอักษรเลขจังหวัดพัทลุง พ.ศ. ๒๕๑๑ เป็นรองปลัดกระทรวงมหาดไทย ตำแหน่งสูงสุด ได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงมหาดไทยใน พ.ศ. ๒๕๑๗

ดร. โกวิท วรพิพัฒน์

      ดร. โกวิท วรพิพัฒน์ เกิดวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๖ ที่ตำบลสาวชะโงก อำเภอบางคล้า ได้รับการศึกษาระดับประถมศึกษาจากโรงเรียนประชาบาลวัดใหม่บางคล้า (ดุดมกิจประชาสรรค์) สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาจากโรงเรียนเบญจมราชรังสฤาฏิ์ ฉะเชิงเทรา สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี – ปริญญาโท และปริญญาเอก ศึกษาศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยรามคำแห่ง ใน พ.ศ. ๒๕๓๕ ได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และได้รับคัดเลือกจากมูลนิธิธารน้ำใจ ให้เป็นคนไทยตัวอย่าง

      ประมาณ เดือนกันยายน ๒๕๔๓ แพทย์ตรวจพบว่าเป็นมะเร็งที่ตัดอ่อน ได้เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และถึงแก่อนิจกรรมในวันจันทร์ที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๔๓ สิริรวมอายุได้ ๖๘ ปี

นายวินท์ ตะเภาทอง

      นายวินท์  ตะเภาทอง เดิมชื่อ “บุญส่ง” บ้านเกิดที่สวนหลวง ตำบลท่าทองหลวง อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา เมื่อวันที่ ๑๕ สิงหาคม  พ.ศ.  ๒๔๖๕  บิดาชื่อนายเชย มารดาชื่อนางปริก  ตะเภาทอง นายวินท์ ตะเภาทอง สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖ จาก โรงเรียนเบจมราชรังสฤษฎิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา เมื่ออายุเพียง ๑๕ ปี ใน พ.ศ. ๒๔๘๐ดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีตำบลบางคล้า อำเภอบางคล้า ๒ สมัย สมัยแรก เมื่อ ๒๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๒ พ้นจากตำแหน่งตามวาระ เมือวันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๙๖สมัยที่สอง รับตำแหน่งนายกเทศมนตรี เมื่อวันที่ ๒๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๖ และลาออกเมื่อวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๗

      นาย วินท์ ตะเภาทอง ได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาจังหวัดถึง ๕  สมัย และเป็นเจ้าของโรงเรียนสุตะบำรุงพิทยาคาร อำเภอบางคล้า ซึ่งก่อตั้งมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๙๔ และยังคงเปิดสอนอยู่ จนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ยังเป็นผู้นำกลุ่มชาวนาระดับอำเภอ ระดับจังหวัด และระดับประเทศ อีกด้วย เนื่องจากทำนาเองเป็นจำนวนมาก จึงพยายามที่จะทำประโยชน์ให้แก่กลุ่มชาวนาเป็นการยกระดับความเป็นอยู่ของชาว นา ให้ดีขึ้น

      นายวินท์ ตะเภาทอง ถึงแก่กรรมด้วยความดันโลหิตสูง เมื่อวันที่ ๑๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๒๘ อายุได้ ๖๒ ปี ๑๐ เดือน ๒๘ วัน

พลอากาศเอกสนั่น ทั่วทิพย์

      พลอากาศเอกสนั่น ทั่วทิพย์ เกิดวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๒ เป็นบุตร นาสาคร และนางผิน ทั่วทิพย์ สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษา จากโรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์ สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนานเรืออากาศ รุ่น ๕ ปี พ.ศ. ๒๕๐๐ สำเร็จการศึกษาโรเงรียนการบินกองทัพอากาศ ประเทศสหรัฐอเมริกา พ.ศ. ๒๕๐๖

พ.ศ. ๒๕๐๘    ไปราชการสงครามเวียดนาม

พ.ศ. ๒๕๑๒    ไปราชการสงครามเกาหลี

พ.ศ. ๒๕๑๗    เป็นนักบินประจำอากาศยานพระราชพาหนะ

พ.ศ. ๒๕๒๐    เป็นราชองค์รักษ์เวร

พ.ศ. ๒๕๓๖    ได้รับเลือกเป็นผู้บริหารราชการพลเรือนดีเด่นของสมาคมข้าราชการพลเรือนแห่งประเทศไทย

พ.ศ. ๒๕๔๑    เป็นราชองค์รักษ์พิเศษ และใน พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการทหารอากาศจนเกษียณอายุราชการ ในเดือน กันยายน ๒๕๔๓

ดร. บุญเลิศ ไพรินทร์

      ดร.บุญเลิศ ไพรินทร์ เกิดเมื่อวันที่ ๑๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ ที่ตำบลบางกระเจ็ด อำเภอบางคล้า เป็นบุตรของนายจ้อย และนางพิศ ไพรินทร์ ศึกษาระดับมัธยมต้น จากโรงเรียนแผนใหม่บางคล้า (ปัจจุบัน คือโรงเรียน เทศบาล ๑ วัดแจ้ง) และ โรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์ ได้รับทุนของจังหวัดไปเรียนที่โรงเรียนฝึกหัดครูบ้านสมเด็จเจ้าพระยา จบปริญญาตรีจากวิทยาลัยการศึกษาประสานมิตร และมหาวิทยาลัยรามคำแหง ระดับปริญญาโทและปริญญาเอก จากมหาวิทยาลัยจอร์เจีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ในปี พ.ศ. ๒๕๔๒

      ดร.บุญ เลิศ ไพรินทร์ ได้รับเลือกเป็นวุฒิสมาชิกของจังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็ฯการเลือกตั้งวุฒิสมาชิกของประเทศไทยเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ ๔ มีนาคม ๒๕๔๓

นายวิจิตร  คุณาวุฒิ

      นายวิจิตร คุณาวุฒิ เกิดวันที่ ๒๓ มกราคม พ.ศ. ๒๔๖๕ ที่ตำบลบางคล้า เป็นบุตรของนายสุจินต์และนางหลด คุณาวุฒิ ได้รับการศึกษาขั้นต้นจากโรงเรียนประชาบาลวัดแจ้ง อำเภอบางคล้า จากนั้นไปศึกษาต่อที่วชิราวุธวิทยาลัย ระดับมัธยมปลายและสำเร็จการศึกษาขึ้นเตรียมปริญญาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และการเมือง

พ.ศ. ๒๔๘๒ นายวิจิตร คุณวุฒิ ประกอบอาชีพเป็นนักหนังสือพิมพ์ และเขียนเรื่องสั้น

พ.ศ. ๒๔๙๓ เข้าวงการโดยแสดงภาพยนต์ กำกับการแสดงและเขียนบทภาพยนต์

พ.ศ. ๒๕๐๓ ได้รับรางวัลตุ๊กตาทองจากภาพยนต์เรื่อง “มือโจร” ซึ่ง เขียนบทและกำกับการแสดงเอง หลังจากนั้นก็ได้รับรางวัลตุ๊กตาทองรางวัลพระสุรัสวดี รางวัลสุพรรณหงส์ทองคำ รางวัลจากการประกวดภาพยนต์เอเชีย จนได้รับสมญาว่า เศรษฐีตุ๊กตาทอง

พ.ศ. ๒๕๓๐ คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติมีมติประกาศยกย่องให้นายวิจิตร คุณาวุฒิ เป็นศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง

พ.ศ. ๒๕๓๕ ได้รับพระราชทานปริญญานิเทศศาสตร์ดุษฎีบัณทิต จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

      นายวิจิตร คุณาวุฒิ ถึงแก่กรรมวันที่ ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๐ เมื่อมีอายุได้ ๗๕ ปี

นายชัยชนะ  บุญนะโชติ

      นาย ชัยชนะ บุฯนะโชติ เกิดวันที่ ๕ มกราคม ๒๔๘๕ เป็น บุตรนายบูญชู และนางแฉ่ง บุญนะโชติ ตำบลบางคล้า อำเภอบางคล้า นายชัยชนะ บุญนะโชติ ชอบการร้องเพลงมาตั้งแต่เกิดและเข้าสู่วงการบันทึกแผ่นเสียงครั้งแรกเมื่อ อายุ ๑๖ ปี เพลงที่ทำให้นายชัยชนะ มีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่รู้จักของคนทั่วไปมีหลายเพลง เช่น แตงร่มใบ ล่องใต้ ใจนางเหมือนทางรถ ชายสามโบสถ์ เป็นต้น

      นอก จากการร้องเพลงแล้ว นายชัยชนะยังมีความสามารถในการแต่งเพลงอีกด้วย นายชัยชนะมีผลงานเพลงที่แต่งมากกว่า ๕๐ เพลง ด้วยความสามารถดังกล่าวจึงได้รับพระราชทานเข็มเกียรติคุณจากพระบาทสมเด็จพระ เจ้าอยู่หัว และรับโล่พระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในงานกึ่งศตวรรษลูกทุ่งไทย ครั้งที่ ๑ จากเพลง แตงร่มใบ และครั้งที่ ๒ จากเพลง ชายสามโบสถ์

      นายชัยชนะ บุญนะโชติ ได้รับยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปการแสดง (นักร้องเพลงลูกทุ่ง) เมื่อวันที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๕๔๑


บทส่งท้าย

            จำเนียรกาลผ่านคล้อยได้ร้อยปี            “บางคล้า” มีงานฉลองสุดผ่องใส

“นายกฯ เจตน์” อำนวยงานมองการณ์ไกล      เพื่อจารไว้ให้ยลคนรุ่นเยาว์

            “บุญสืบ คชรัตน์” พลตรีเล่า                 ท่านก็เข้ามาช่วยอำนวยสนอง

สองพี่น้องลูกบางคล้าพากันลอง                     จัดงานฉลองยิ่งใหญ่ไม่เคยมี

            “ท่านสงคราม” นายอำเภอเสนอตัว      หนักไม่กลัวตัวเกษียณเปลี่ยนสมัย

แต่ชื่ออยู่กึกก้องระบือไกล                              ว่าเป็นสมัยที่กำเนิดเกิดงานนี้

            มี “ป.อาวุโส” เป็นคู่คิด                      ตามติดด้วย “ป.แมว” แจ๋วนำหนุน

ทั้งอำเภอมาช่วยกันชุลมุน                               ขอขอบคุณทุกคนจนนักการฯ

            กลุ่ม “กำนันประจักษ์” จักนำกุ้ง          นำมาปรุงรสเลิศให้ลองลิ้ม

เดินชมงานเดินชมพลางต่างลองชิม                ชิมแล้วยิ้มยกนิ้วให้ใช่ “ยอดเลย”

            นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานอื่น                ที่หยิบยื่นความสัมฤทธิ์ประสิทธิผล

จัดกิจกรรมต่างตางดังได้ยล                            “พล ๑๑” “ราชภัฏ” ก็จัดมา

            เทศบาล “บางคล้า” “ปากน้ำ” เล่า        ก็มาเข้าร่วมจิตคิดสนอง

“ตำรวจ” “เกษตร” “ไฟฟ้า” ต่างมารอง             ช่วยประคองงานให้ไปได้ดี

            อนึ่งมีหน่วยงานการศึกษา                   ทั้งอำเภอพาเด็กมาหาความรู้

ให้มีประสบการณ์เป็นดั่งครู                            ร่วมกันดูนิทรรศการงานบางคล้า

            พ่อค้าประชาชนคนอื่นอื่น                   ก็ชมชื่นและช่วยชี้ที่ควรแก้

กรรมการต่างพอใจกันนักแล                          มีคนแคร์ช่วยคิดมิตรทั้งปวง

            ขออภัยไม่อาจเอยนามได้ครบ              หากต้องจบด้วยเนื้อที่มีเพียงนี้

ขอขอบคุณทุกทุกท่านกันอีกที                       บางคล้ามีวันนี้ได้ใช่ “ท่าน” เลย

ใส่ความเห็น